วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566

แอปแป้นพิมพ์บลูทูธสำหรับพิมพ์ภาษาไทยบนมือถือแอนดรอยด์ More Physical Keyboard Layouts

ตอนที่เอาโทรศัพท์มือถือ (หรือแท็บเล็ต) ระบบ Android มาต่อกับแป้นพิมพ์บลูทูธ บางครั้งก็เจอปัญหาว่าพิมพ์ไทยไม่ได้ หรือสลับภาษาไปพิมพ์ไทยไม่ได้ วิธีแก้คือติดตั้งแอปแป้นพิมพ์เพิ่มเข้าไปก่อน ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ไม่มากนักที่รองรับภาษาไทยและยังอัปเดตอยู่

หนึ่งในแอปตัวที่ใช้งานได้ดีในปัจจุบัน ก็มี More Physical Keyboard Layouts ที่สามารถติดตั้งได้จาก Play store ได้โดยตรง จึงค่อนข้างสะดวกและวางใจเรื่องความปลอดภัยได้ วิธีการสลับภาษาคือใช้ ctrl + space

แต่แอปนี้ใช้กับมือถือ Samsung ไม่ได้ เพราะว่า Samsung ล็อกเอาไว้



ตัวเลือกแป้นพิมพ์ภาษาไทยของแอป ก็จะมี เกษมณี (Kedmanee) และ ปัตตะโชติ (Pattachote) ตามมาตรฐานนั่นแหละ

เมื่อปี 2564 มีผังแป้นมนูญชัยจากคุณมนัสศานติ์ มนูญชัย เพิ่มขึ้นมาอีกแป้น ซึ่งเมื่อผมวิเคราะห์การใช้นิ้วยกแคร่บนแป้นพิมพ์มนูญชัย จึงพบว่าสำหรับคนที่ใช้งานจนคุ้นชินกับแป้นแบบเดิมๆ (เกษมณี) ก็สามารถปรับแต่งผังแป้นพิมพ์เองได้ โดยสลับเปลี่ยนบางปุ่มเพื่อให้พิมพ์ได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องเรียนรู้ผังแป้นพิมพ์แบบใหม่ ไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนานมาก

ด้วยความที่งานปัจจุบันของผมต้องพิมพ์เยอะมาก (แปลนิยาย) หลังจากเปลี่ยนมาใช้แป้นพิมพ์ mechanical keyboard (Keychron K3) ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ มันไม่มีแผงตัวเลข num pad เวลาพิมพ์ตัวเลขและสัญลักษณ์อย่าง ! ' ที่ต้องพิมพ์บ่อยมากในงานนิยาย จะต้องคอยสลับภาษาไทยอังกฤษอยู่บ่อยๆ จึงได้ออกแบบผังแป้นพิมพ์ที่ใช้สำหรับงานเขียนขึ้นมา โดยอิงจากแนวคิดของมนูญชัยว่า

- ตัวเลขเป็นเลขอารบิก และอยู่ตำแหน่งเดียวกับภาษาอังกฤษ

- มีตัวสัญลักษณ์ที่จำเป็นอย่างครบถ้วน

ทำใช้ไปก็ปรับไปจนลงตัว แล้วก็ใช้มาเรื่อยๆ แต่ก็เจอปัญหาว่าเวลาไปพิมพ์งานบนมือถือ (หรือแท็บเล็ต) มันไม่มีผังแป้นพิมพ์ที่ตัวเองออกแบบไว้ เลยต้องใช้เป็นเกษมณีธรรมดาๆ ไป แต่ก็พยายามศึกษาหาวิธีเขียนโปรแกรมแป้นพิมพ์ไปด้วย ซึ่งมีตัวอย่างให้ศึกษาน้อยมากๆ

แล้วเมื่อตอนปลายปี 2565 นึกได้ว่าลองติดต่อนักพัฒนาแอปแป้นพิมพ์บลูทูธดู ว่าเขาจะเพิ่มผังแป้นพิมพ์ให้หน่อยได้ไหม ไปค้นๆ ดูเจอแอป KeyboardTH ที่เป็นคนไทย น่าจะคุยได้สะดวกกว่า สอบถามเขาไปว่าพอจะอัปเดตผังแป้นพิมพ์เพิ่มให้ได้ไหม เขาตอบรับมาเราก็ดีใจ แต่จวบจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้ทำอะไร ฮ่า

รอมาหลายเดือน จนสุดท้ายมาเจอว่าแอปแป้นพิมพ์ More Physical Keyboard Layouts เขาเป็น opensource อยู่ใน GitHub ด้วย ดังนั้นเมื่อต้นกุมภาพันธ์ปี 2566 เลยลองติดต่อนักพัฒนาว่าขอเพิ่มผังแป้นพิมพ์หน่อย แต่ก็เงียบหายไป ไม่มีการตอบรับ ตอนนั้นก็ได้แต่ตัดใจล่ะว่าช่างมัน เดี๋ยวเอาไว้รอมีเวลาค่อยเขียนเองก็ได้ ฮ่า

แต่ที่ไหนได้ จู่ๆ ก็เกิดเรื่องไม่คาดคิด (28 กันยา 66) เมื่อเปิดไปหน้าแอปของ More Physical Keyboard Layouts ก็พบว่ามีการอัปเดตผังแป้นพิมพ์ที่ขอไป! โอ้ว! (อัปเดตเมื่อ 19 สิงหา v.1.29)



ผังแป้นพิมพ์ที่ขอไป มี 2 เรื่อง คือ แก้ bug ของเก่า กับเพิ่มผังแป้นพิมพ์ใหม่

ผังแป้นพิมพ์เกษมณีและปัตตะโชตินั้น โดยทั่วๆ ไปจะมีเวอร์ชันที่เป็น shift lock กับ non-shift lock ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันยังไง

คือในภาษาอังกฤษ เวลากดปุ่ม caps lock เอาไว้ ตัวอักษรที่พิมพ์ลงไป จากพิมพ์เล็ก a จะกลายเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ A โดยที่เราไม่ต้องมานั่งกดแป้น shift ค้าง

แต่ในเวอร์ชันภาษาไทยนั้น กลับไม่เป็นอย่างนี้ ต่อให้กด caps lock ไว้ก็ไม่มีผลอะไร ไม่ว่าจะเลือกเป็น shift lock หรือ non-shift lock ก็ตาม

ตรงนี้ผมเลยขอแก้แป้นพิมพ์ว่าในเวอร์ชัน shift lock เนี่ย เวลากด caps lock มันจะเหมือนเรากดยกแคร่ค้างไว้นั่นเอง

แล้วผังแป้นพิมพ์อันที่เพิ่มเข้าไปใหม่ล่ะ มีอะไร ก็คือเพิ่มผังแป้นพิมพ์มนูญชัยเข้าไปน่ะสิ

นอกจากนี้ก็ยังมีผังแป้นพิมพ์รุ่นสำหรับงานเขียนด้วย ทั้งของเกษมณี ปัตตะโชติ และมนูญชัยเลย

ผังแป้นพิมพ์มนูญชัยปกติ มีจุดพิเศษคือจะสามารถใช้แป้นพิมพ์ที่เรียกว่า layer 3 (AltGr) คือในแต่ละปุ่มเนี่ย เวลาเรากด ก็จะได้ตัวอักษรตัวหนึ่ง เช่น a แต่ถ้ากดยกแคร่ค้างไว้แล้วกด จะได้ตัว A นี่เรียกว่าเป็น layer 2 ซึ่ง layer 3 ก็คือกด Alt ขวาค้างไว้ (แล้วก็ยังสามารถกดยกแคร่ได้อีกด้วย) ทำให้เรามีพื้นที่สำหรับบรรจุตัวอักษรได้อย่างเหลือเฟือ

ดังนั้นผังแป้นพิมพ์รุ่นงานเขียน จึงเอาแนวคิดนี้ของมนูญชัยมาใช้ โดยในการพิมพ์ปกติแต่เดิมจะเป็นเลขไทย ก็เปลี่ยนเป็นเลขอารบิก และถ้าต้องการพิมพ์เลขไทย ให้ใช้วิธีกด AltGr ค้างไว้ ก็จะได้เป็นตัวเลขไทย

ในผังแป้นพิมพ์เกษมณีรุ่นงานเขียน ผมจึงปรับให้แถวตัวเลขจากเลขไทยเป็นเลขอารบิก แล้วย้ายตำแหน่งให้ตรงกับตัวเลขในภาษาอังกฤษ แต่การทำเช่นนี้ส่งผลให้สระอูต้องถูกขอคืนพื้นที่

ตอนแรกก็คิดว่าจะเอาไปใส่ที่ตำแหน่งเลขศูนย์ไทยของเดิมแหละ แต่ตอนใช้งานจริงพบว่าสระอูค่อนข้างใช้บ่อย จึงเปลี่ยนมาให้อยู่ในตำแหน่งตัว ฤ แล้วย้าย ฤ ไปอยู่ที่เลขศูนย์ไทย

ผังแป้นปัตตะโชติรุ่นงานเขียนเองก็เปลี่ยนเป็นเลขอารบิกด้วยเช่นกัน

ดังนั้นผังแป้นพิมพ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในแอป More Physical Keyboard Layouts จึงมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 แบบด้วยกัน โดยแยกดังนี้

1. ผังแป้นพิมพ์ มี 3 แบบหลัก ได้แก่ เกษมณี ปัตตะโชติ และมนูญชัย

2. ผังแป้นพิมพ์ด้านบน แยกเป็นรุ่นปกติ กับรุ่นดัดแปลงสำหรับงานเขียน รุ่นดัดแปลงสำหรับงานเขียนจะมีคำว่า Writer ต่อท้าย

3. ทั้งแป้นรุ่นปกติและรุ่นงานเขียน จะมีแยกเป็นสองเวอร์ชัน คือเวอร์ชันกด caps lock จะเหมือนกดยกแคร่ค้าง กับรุ่นที่กด caps lock ไว้ก็ไม่มีผลอะไร โดยรุ่นที่กด caps lock ได้นั้นจะไม่มีอะไรต่อท้าย ส่วนรุ่นที่กด caps lock ไม่ได้ จะมี (non-shift lock) ต่อท้ายชื่อ

ดังนั้นผังแป้นพิมพ์ไทยของแอปจึงมีทั้งหมดดังนี้

[ เกษมณี ]

Thai Kedmanee

Thai Kedmanee (non-shift lock)

Thai Kedmanee Writer

Thai Kedmanee Writer (non-shift lock)

[ ปัตตะโชติ ]

Thai Pattachote

Thai Pattachote (non-shift lock)

Thai Pattachote Writer

Thai Pattachote Writer (non-shift lock)

[ มนูญชัย ]

Thai Manoonchai

Thai Manoonchai (non-shift lock)

Thai Manoonchai Writer

Thai Manoonchai Writer (non-shift lock)


ผังแป้นพิมพ์แบบต่างๆ

เกษมณี (งานเขียน)


เกษมณี (AltGr)


ปัตตะโชติ (งานเขียน)


ปัตตะโชติ (AltGr)


มนูญชัย


มนูญชัย (งานเขียน)


มนูญชัย (AltGr)


✧ ✧ ✧ ✧ ✧

[ Keyword ]

ผังแป้นพิมพ์, แป้นพิมพ์บลูทูธ, พิมพ์ไทย, มือถือแอนดรอยด์, external keyboard, physical keyboard, bluetooth keyboard

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น