วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เปลี่ยนมาใช้แป้นพิมพ์ Keychron K3 ได้ 3 สัปดาห์

บันทึกประวัติการใช้งานแป้นพิมพ์ของตัวเอง…

ผมใช้แป้นพิมพ์แบบ mechanical มาหลายปีแล้ว แต่คงจะเรียกว่าคนในวงการไม่ได้ ฮ่า เพราะแค่ใช้งานแต่ไม่ได้ศึกษาอะไรมากนักหรอก

สมัยก่อนเคยใช้แป้นพิมพ์ของพี่สาวอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่พี่สาวซื้อใช้งานตอนเรียนอยู่ต่างประเทศ เรียนจบแล้วก็ขนกลับมาไทย เป็นแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ IBM ซึ่งเครื่องเก่ามากจนเอามาใช้งานต่อไม่ไหวล่ะ แต่ว่าแป้นพิมพ์ยังใช้งานได้ และชอบเรื่องการตอบสนองการสัมผัสเวลากด มีเสียงติ๊กๆ พิมพ์ได้สนุกดี รู้สึกดีกว่าแป้นพิมพ์อื่นๆ ที่เคยใช้มา แต่สมัยนั้นยังไม่รู้จักหรอกว่ามันเป็นแป้นพิมพ์แบบ mechanical


แต่ด้วยความที่มันเป็นแป้นพิมพ์รุ่นเก่า ซึ่งใช้หัวเสียบแบบ PS/2 ทำให้หลังจากที่เปลี่ยนเครื่องคอมฯ ซึ่งรุ่นหลังๆ จะไม่มีพอร์ตนี้แล้ว ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อีก

สมัยก่อนก็รู้เพียงแค่ว่าแป้นพิมพ์แต่ละอัน มันมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน เวลาซื้อก็ลองจิ้มกดอันนู้นอันนี้ แต่ก็ยังไม่มีอันไหนที่กดแล้วได้ความรู้สึกว่าพิมพ์ได้ถูกใจแบบอันของพี่สาวอีก

จนกระทั่งวันหนึ่งเข้าเว็บพันทิป (เวอร์ชันเก่า) ไปเจอกระทู้เก่าที่หลายปีที่มีคนอธิบายเรื่อง mechanical keyboard ทำให้รู้ว่าแป้นพิมพ์ที่ถูกใจอันนั้นก็คือแป้นพิมพ์แบบ mechanical นี่เอง แต่ว่าหลังจากนั้นก็ยังไม่ได้ไปหาซื้อมาใช้งานหรอก

แล้ววันหนึ่ง (25 พฤษภาคม 2016) ไปเดินห้างไอทีที่ผมซื้อของประจำ ที่ลานจัดกิจกรรมมีร้านหนึ่งขายแป้นพิมพ์ด้วย พอไปจิ้มดูก็รำลึกความทรงจำได้ในทันที ว่าไอ้เจ้านี้ก็คือ mechanical keyboard นั่นเอง ก็เลยกัดฟันซื้อ เพราะราคาก็หลายพันอยู่ 😅


ที่ได้มาเป็น blue switch ตามที่ต้องการแหละ เพราะตอนอ่านข้อมูลในพันทิป เขาบอกว่า blue เหมาะสำหรับพิมพ์งาน หลังจากที่ซื้อกลับมาใช้งานก็ชอบใจมาก พิมพ์งานได้ง่ายกว่าแป้นพิมพ์ธรรมดาที่ใช้อยู่มาก

แป้นพิมพ์ที่ซื้อมานี่มีไฟวูบวาบด้วย แต่ด้วยความที่ไม่ชอบความวูบวาบแบบนั้นก็ปิดฟังก์ชันทิ้งไป ฮา


ใช้งานมาน่าจะปีกว่า ปรากฏว่าเริ่มมีบางปุ่มกดเบิ้ลบ้างกดไม่ติดบ้างล่ะ แล้วก็นึกถึงข้อมูลในพันทิปที่บอกว่าแป้นพิมพ์ mechanical จะทนทานกว่าแป้นพิมพ์แบบ rubber dome ที่ใช้ในแป้นพิมพ์ทั่วไป รวมกับแป้นของพี่สาวที่อายุร่วมสิบปีก็ยังใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา ถึงได้ตัดใจซื้อแป้นพิมพ์ราคาหลายพันนี่มานะเนี่ย แล้วไหงถึงได้พังง่ายๆ นักล่ะ

พอแป้นพังไป ก็เลยกลับไปใช้แป้นพิมพ์ธรรมดาอีกครั้ง เพราะรู้สึกเข็ดว่าของแพงแต่ไม่เห็นทนเลย แป้นพิมพ์ถูกๆ สองสามร้อยใช้มาตั้งนานยังไม่มีอันไหนพังสักตัว

ที่จริงระหว่างนี้ก็มีติดตามเพจคนไทยเพจหนึ่งที่เอา mechanical keyboard เข้ามาขาย แต่รุ่นที่เป็นแบบ full size 100% blue switch มาไม่ตรงจังหวะเราสักที ก็เลยยังไม่ได้ซื้อ

วันหนึ่งไปเดินซื้อของที่ห้างไอทีเจ้าประจำ (น่าจะ 21 ตุลาคม 2519) ด้วยความที่เป็นคนชอบกดแป้นพิมพ์ที่เขาเอามาโชว์ เพราะอยากหาแป้นพิมพ์ที่ให้สัมผัสตอบสนองการพิมพ์ที่ดีอยู่ตลอด ไปจิ้มกดที่ร้านนึงเข้า โอ้… พอมาดูราคา โอ้… จำไม่ได้ว่าพันกว่าหรือสองพันกว่า เลยถามคนขายว่านี่ใช่แป้น mechanical keyboard หรือเปล่า และได้รับการยืนยันว่าใช่ คือแปลกใจว่าราคามันถูกกว่าตัวก่อนหน้าที่เคยซื้อเกินครึ่งไปเยอะมาก ก็เลยซื้อมาใช้งานเป็นตัวที่สอง

ตอนซื้อไม่ได้ดูหรอกว่าเป็นสวิตช์แบบไหน เพราะเห็นว่าเป็น mechanical ในราคาเท่านี้ ก็คว้ามาล่ะ ฮ่าๆ คือขัดใจกับแป้นพิมพ์ที่ใช้อยู่มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดจะไปหาซื้อ mechanical keyboard มาใช้อีก ไม่ได้หาข้อมูลอะไรด้วย เพราะรู้สึกว่าราคาสูง แต่ไม่ค่อยคุ้มเพราะพังง่าย (มารู้เอาตอนที่ซื้อแป้น Keychrom มาใช้ ว่าเจ้าตัวที่สองนี่เป็น red switch)


ได้ใช้งานปีกว่า ซื้อมาตั้งแต่ก่อนโควิด แล้วช่วงกลางปีนี้ (2021) ก็ออกอาการกดบางปุ่มแล้วเบิ้ลบ้างไม่ติดบ้างอีกแล้ว คิดในใจทันที อีกแล้ว… ไม่เห็นจะทนเลย 😖

ก็เลยไปขุดเอาแป้นพิมพ์เก่ากลับมาใช้เหมือนเดิม เฮ่อ…

จากนั้นก็เลิกสนใจแป้นพิมพ์ mechanical อีก เพราะรู้สึกว่าแพงและพังง่าย ไม่เหมือนแป้นพิมพ์ของพี่สาวที่ใช้มาสิบกว่าปีก็ยังคงใช้งานได้ดี (และโคตรหนัก ฮ่า)

แล้ววันดีคืนดี อยู่ๆ ใน Youtube ก็ดันมีคลิปรีวิวแป้นพิมพ์ยี่ห้อ Keychron ซึ่งเป็นแป้นพิมพ์แบบ mechanical ก็เลยเปิดดู แล้วสะดุดตรงที่ปุ่มกดเป็นแบบ hot swap ที่ถอดเปลี่ยนเองได้ง่าย โอ้… ความสนใจพุ่งขึ้นมาทันที ไล่ดูรีวิวไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจจะซื้อ

ผมเองเป็นคนที่ต้องใช้แป้นพิมพ์แบบ full size ที่เรียกว่าแป้น 100% มาตลอด เพราะเคยชินในการใช้แป้นตัวเลขด้านขวา ตอนที่ซื้อ notebook ก็ต้องเลือกจอใหญ่ 15 นิ้วเพราะมันจะมีแป้นตัวเลขมาด้วย คือแป้นพิมพ์ที่ซื้อใช้มาตลอด ต้องเป็น full size เท่านั้น


ทีนี้ช่วงนั้นก็มีข่าวเกี่ยวกับผังแป้นพิมพ์มนูญชัย ก็เลยศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผังแป้นพิมพ์และเรื่องเกี่ยวข้อง เลยทำให้รู้ว่าที่ต้วเองต้องใช้แป้นพิมพ์แบบ full size นั้นก็เพราะปัญหาเรื่องผังแป้นพิมพ์นี่เอง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้คิดถึงตรงนี้ ฮ่า

เนื่องจากผังแป้นพิมพ์ไทยนั้น ตัวเลขจะเป็นเลขไทย ซึ่งถ้าไม่ใช่คนในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์เอกสารราชการ ก็แทบจะไม่มีใครแตะตัวเลขไทยบนแป้นพิมพ์กันเลย

แต่พอได้อ่านเกี่ยวกับผังแป้นพิมพ์มนูญชัย ทำให้ได้ไอเดียว่าที่จริงในปัจจุบันการเปลี่ยนผังแป้นพิมพ์ไม่ใช่เรื่องลำบากเหมือนสมัยอดีตแล้ว จากนั้นผมก็เริ่มทดลองเปลี่ยนผังแป้นพิมพ์เกษมณีที่ใช้อยู่ โดยปรับตัวเลขไทยให้เป็นอารบิก ใช้ได้ไม่กี่วันก็เปลี่ยนอีกที ย้ายตำแหน่งเลขไทยไปอยู่ตำแหน่งเดียวกับแป้นพิมพ์อังกฤษซะเลย แต่จะมีปัญหาว่าตำแหน่งสระอู ที่มันอยู่ตำแหน่งเลข 6 ก็เลยต้องย้ายลงมาข้างล่างแทน

ด้วยความที่รู้สึกว่าตัว ฤ ที่นิ้วก้อยซ้ายมันใช้งานน้อยกว่าสระอู ผมก็เลยสลับเอาสระอูลงมา แล้วย้ายตัว ฤ ขึ้นไปที่ตำแหน่งเลข 0 ไทยเดิม และย้ายตัวเลขไทย 1 - 10 ไปไว้ที่ AltGr (กด Alt ขวาค้างไว้) ในตำแหน่งเดียวกับแป้นอังกฤษด้วย และก็ยังคงพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกอยู่ตลอดกับสระอู และ ฤ ที่ย้ายมาใหม่ ฮ่า 😆

พอลองใช้งานได้สักระยะ พบว่าการพิมพ์ตัวเลขในแป้นธรรมดาสะดวกขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องสลับไปใช้แป้นอังกฤษ ก็เลยเริ่มมีความคิดที่จะเปลี่ยนขนาดของแป้นพิมพ์จาก full size 100% มาเป็นแบบ 75% เพราะตอนที่หาข้อมูลพบว่าแป้นพิมพ์ full size ทำให้เราต้องกางมือออกไปมากเพื่อใช้เมาส์ ถ้าต้องใช้เมาส์เยอะๆ จะส่งผลต่อความเมื่อยล้า ซึ่งเทียบกับตัวเองแล้วก็รู้สึกว่าจริงตามนั้น จึงได้คิดจะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้แป้นพิมพ์ตัวเอง

ที่จริงแล้วการเปลี่ยนตำแหน่งตัวเลขบนแป้นภาษาไทย เหมือนจะใช้งานง่ายขึ้นแต่ก็เจอปัญหากับความงงเวลาสลับภาษาไทยอังกฤษ เพราะอังกฤษจะพิมพ์เลขได้เลย ส่วนไทยต้องกดแป้นยกแคร่ ซึ่งก่อนหน้านี้คิดจะย้ายไปใช้ผังแป้นพิมพ์มนูญชัย แต่พอศึกษาทำความเข้าใจกับแนวคิดและลองทดสอบดูแล้วรู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์เต็มที่เพราะเทียบกับปัตตะโชติแล้ว มนูญชัยต้องกดแป้นยกแคร่เพิ่มขึ้นอีกมาก ใช้งานนิ้วก้อยอย่างหนักหน่วง เท่ากับว่าทั้งมือขวาและมือซ้าย จะใช้นิ้วชี้มากสุด ตามด้วยนิ้วก้อย นอกจากนี้แป้นพิมพ์มนูญชัยเองก็ออกแบบด้วยแนวคิดที่ว่าไม่ต้องการ bias สำหรับการใช้งานด้านใดด้านหนึ่ง จึงไปไม่สุดสักทาง ใช้กับงานเขียนก็ยังขัดๆ และขาดตัวอักษรที่ใช้บ่อยๆ ในงานเขียน อย่างตัว . , / ' และการคิดคะแนนของมนูญชัยนั้นเขาไม่ได้เอาตัวอักษรที่ไม่มีในแป้นพิมพ์ ดังนั้นคะแนนจริงของแป้นมนูญชัยเมื่อเทียบกับเกษมณีแล้ว จะไม่ถึง 45% ตามที่เคลมเอาไว้

เลยคิดว่าถ้ามีเวลาก็จะมาเขียนโปรแกรมวิเคราะห์เรื่องผังแป้นพิมพ์ ตอนนี้มี requirement แบบคร่าวๆ แล้วว่าต้องการอะไรบ้าง ก็คือต้องมีสัญลักษณ์ที่ต้องใช้ในงานเขียนให้ครบ ตัวเลขตำแหน่งเดียวกับแป้นอังกฤษ เปลี่ยนสัญลักษณ์สามตัวของแป้นอังกฤษที่ไม่ใช้ $^& ไปเป็นตัวอื่น ไม่ใช้ปุ่มขวาสุดของแถวสอง (ฃฅ) และต้องกดแป้นยกแคร่ให้น้อยกว่ามนูญชัย (เพราะการยกแคร่น้อยลงก็คือใช้งานนิ้วก้อยน้อยลง)

...

กลับมาเข้าเรื่องแป้นพิมพ์ต่อ ฮ่า

จากนั้นก็เลยหาข้อมูลแป้นพิมพ์ขนาด 75% ของ Keychron เจอหลายคนบอกว่าแป้นพิมพ์มันสูง พิมพ์นานๆ แล้วจะเมื่อยมือง่าย เลยทำให้เริ่มมองแป้น K3 ซึ่งเป็นแป้นพิมพ์แบบ low profile และเป็นสวิตช์ Gateron แบบ Optical

เอาล่ะ ตัดใจว่าจะซื้อล่ะ เข้าเว็บ keychronthailand ไปทีไร ของก็หมดทุกที คิดไปคิดมา งั้นสั่งจากเว็บนอกเลยก็ได้ เพราะที่จริงแล้วตัวเองก็พิมพ์สัมผัสได้ทั้งไทยอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ่มที่มีภาษาไทยสักหน่อย

เว็บ keychorn เหลือแต่ไฟสีขาว โอเค ไม่มีปัญหา เพราะปกติไม่ชอบไฟวูบวาบอยู่แล้ว และตอนดูรีวิวเห็นคนบอกว่า brown เสียงจะเงียบกว่า blue ก็เลยว่าจะสั่ง brown แต่ของหมด เหลือแต่ blue เอาว่า blue ก็ blue

ตอนแรกจะฝากคุณเพื่อนช่วยสั่งเพราะใช้ Paypal แต่คุณเพื่อนไปดูข้อมูลก็บอกมาว่าใช้บัตรเครดิตเสมือนก็ซื้อได้นะ โอเค… ถ้าบัตรนี้เรามี งั้นกดสั่งเลย ราคา 2,903 บาท คุณเพื่อนบอกว่ามาเมืองไทยก็น่าจะต้องเผื่อภาษีอีก 30%

กดสั่งซื้อไปวันที่ 25 ตุลาคม 64 ก็กะว่าสักสองสามสัปดาห์ล่ะมั้ง กว่าจะส่งมาถึง และคุณเพื่อนบอกว่าจะเป็นใบแจ้งเพื่อให้ไปรับสินค้าที่ไปรษณีย์ พร้อมกับคิดภาษีที่นั่นเลย

ปรากฏว่าวันที่ 2 พฤศจิกายน 64 ก็มีมอเตอร์ไซค์มาส่งพัสดุให้ ทำเอาแปลกใจเพราะมาเร็ว และได้ของมาเลย ไม่ต้องไปจ่ายภาษีเพิ่มอีก โอ้… ถ้าซื้อในไทย ก็ราคา 3,890 บาท (ถึงแม้ว่าจะเป็นแป้นอังกฤษล้วนก็ตามที) ประหยัดไปร่วมพันเลย ส่วนเรื่องประกัน ไม่ค่อยสน เพราะจากที่เคยซื้อแป้นพิมพ์มาสองอัน ก็ไม่เห็นจะได้ใช้ประกันเลยสักครั้ง 😑


หลังจากได้ของมาแล้วก็ต้องเห่อซักหน่อย ผลคือ… ไม่ถนัด ฮ่าๆ

ที่ไม่ถนัดก็เพราะว่ามันเป็นแป้นพิมพ์แบบ low profile ซึ่งปุ่มมันเตี้ย เวลาไปสะกิดโดนปุ่มอื่นแค่นิดเดียวมันก็ลั่นไปโดนตัวอื่นแล้ว แต่ความรู้สึกในการพิมพ์ก็ดีกว่าแป้นพิมพ์แบบ rubber dome เยอะล่ะน่า

และด้วยความเป็น blue ซึ่งตัวเองก็รู้สึกดีอยู่แล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะเสียงดังอะไรเท่าไหร่ ชอบการตอบสนองมากกว่าที่เป็น red ที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ (ทำให้รู้สึกเลยว่า ทีหลังคงใช้แต่ blue ล่ะ)

ใช้มาได้สองสัปดาห์ ก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจอะไรกับเจ้า K3 นะ และยังคงพิมพ์พลาดเช่นเดิม ลดลงไปนิดหน่อย ฮา ทีนี้ก็เลยลองแกะ keycap ของตัวเก่ามาใส่ คือเพิ่งมารู้ตอนหาข้อมูลหลังจากที่ดูโฆษณา Keychron ว่า keycap มันถอดเปลี่ยนได้ 😅

ลองใส่ดู โอ้… ใส่ได้ ก็เลยจัดการเปลี่ยนซะเลย แต่พวกปุ่มยาวที่มี stack มันใส่ด้วยกันไม่ได้ แต่ไม่ซีเรียสเท่าไหร่ และอยากเปลี่ยนปุ่ม home end และลูกศรอยู่แล้ว เพราะของเดิมมันเรียบเสมอกัน กดผิดตลอด ดังนั้นแป้นพิมพ์ก็เลยมี keycap ทั้งของใหม่ของเก่าผสมกัน มันก็จะขี้เหร่หน่อยๆ ฮ่าๆ 😂





ใช้งาน keycap แบบสูงมาได้สัปดาห์กว่า รู้สึกได้ว่า… ถนัดขึ้นเยอะเลย 😆

ตอนนี้เจอความรำคาญนิดหน่อยก็คือผมใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่สองเครื่อง อยู่คนละชั้นของบ้าน ทำให้ต้องถอดสายหอบหิ้วแป้นพิมพ์ขึ้นๆ ลงๆ เพราะทนใช้แป้นพิมพ์ธรรมดาสลับกับ mechanical ไม่ไหวจริงๆ ขัดใจมาก

การหอบแป้นพิมพ์ไปๆ มาๆ นี่ผมยังไม่ค่อยรู้สึกอะไรมาก แต่รำคาญที่ต้องมุดโต๊ะไปถอดๆ เสียบๆ แป้นพิมพ์นี่แหละ

ตอนแรกก็ว่าจะซื้อแป้นพิมพ์มาเพิ่มอีกตัว ดูเจ้า Royal Kludge RK84 เอาไว้ แต่ก็มีเพื่อนแนะนำว่าไปซื้อ usb bluetooth มาใช้สิ โอเค งั้นเดี๋ยวไว้ลอง bluetooth ดูก่อนก็ได้

// เพิ่มเติม… เจอคนบอกว่าซื้อแป้นพิมพ์ Gateron optical แล้วหาสวิตช์เปลี่ยนยากมากและรู้สึกคิดผิด ทำเอาเรารู้สึกใจแป้วเหมือนกัน ฮ่าๆ

* * * * *

[Keywords]

Mechanical Keyboard, Keychron, Keychron K3, แป้นพิมพ์, คีย์บอร์ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น