วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564

วิเคราะห์การใช้นิ้วยกแคร่บนแป้นพิมพ์มนูญชัย

ได้ไปเจอ เรื่องสถิติการใช้งานแต่ละนิ้วของผังแป้นพิมพ์ปัตตะโชติที่เอามาเทียบกับเกษมณี ว่ามีการเฉลี่ยการใช้นิ้วของมือซ้ายให้มากขึ้น




พอได้เห็นข้อมูลนี้ เลยทำให้เกิดแว่บขึ้นมาว่า ทั้งแป้นปัตตะโชติ และมนูญชัย ที่เอามาเทียบกับเกษมณี ก็พูดแค่เรื่องของการใช้นิ้วในการกด แต่ไม่ได้พูดถึงว่าต้องกดแป้นยกแคร่ (shift) เพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ และส่งผลต่อ load ของนิ้วก้อยที่ต้องกดแป้นเพิ่มอีกเท่าไหร่ เลยเขียนโปรแกรมแบบง่ายๆ ขึ้นมาด้วยภาษา PHP เพื่อใช้วิเคราะห์ในเรื่องนี้ (ดาวน์โหลดไปดูได้จากลิงก์นี้)

ผมใช้เนื้อหานิยายเรื่องที่แปลเอาไว้เองเอามาทดสอบ ซึ่งมีจำนวนตัวอักษรทั้งสิ้น 19,667 ตัวอักษร


การวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมของมนูญชัย จะได้ค่าประสิทธิภาพดีกว่าเกษมณีอยู่ที่ 37.19537605051062%



การวิเคราะห์จาก Heatmap จะเห็นว่ามนูญชัยมีการกระจายนิ้วออกไปสองมือมากกว่า (และหนักซ้ายในแถวแป้นเหย้า?)



เทียบกับผังแป้นพิมพ์แบบปัตตะโชติ จะได้ค่าประสิทธิภาพดีกว่าเกษมณีอยู่ที่ 24.22477312540522%



ซึ่งผมต้องการวิเคราะห์เรื่องการกดแป้นยกแคร่ และผลที่ได้จากผังแป้นเกษมณีก็คือ



แป้นปัตตะโชติ ได้ผลออกมาคือ



แป้นมนูญชัย ได้ผลออกมาคือ



จากนั้นเอามาเขียนเป็นชาร์ตด้วย LibreOffice Calc เพื่อดูเปรียบเทียบพร้อมกันทั้ง 3 แบบ




หลักการวิเคราะห์ของผม ทำโดยการเอาข้อความทั้งหมดออกมาแยกทีละตัวว่าใช้นิ้วอะไร โดยจะมีที่เพิ่มเติมคือ

- เครื่องหมายขึ้นบรรทัดใหม่ จะถูกลบทิ้งทั้งหมด ไม่นำมาคิด

- เครื่องหมายอัญประกาศเดี่ยว ‘’ จะถูกแปลงเป็น '

- เครื่องหมายอัญประกาศคู่ “” จะถูกแปลงเป็น "

- เครื่องหมายไข่ปลา … จะถูกแปลงเป็น . สามตัว

- นับจำนวนนิ้วก้อย แบบที่กดตัวอักษรตามปกติ

- นับจำนวนนิ้วก้อย ที่ใช้ในการกดแป้นยกแคร่

- นับจำนวนช่องว่างไว้ต่างหาก (ซึ่งที่จริงแล้วถูกเคาะด้วยนิ้วโป้งมือขวา)

- นับจำนวนตัวอักษรที่ไม่ได้มีอยู่ในผังแป้นพิมพ์ของแต่ละแบบ แยกออกมาต่างหาก


เหตุผลที่แปลง ‘’ “” … (อัญประกาศเดี่ยว อัญประกาศคู่ ไข่ปลา) ให้เป็น ' " . เพราะว่าโปรแกรมที่ใช้พิมพ์เอกสารส่วนใหญ่ (MS Word, LibreOffice Writer, Google Doc) จะแปลง ' " . ให้เป็น ‘’ “” … ในตอนที่เราพิมพ์โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว


เปรียบเทียบจากข้อมูลเอกสารของผมที่เอามาวิเคราะห์ สัดส่วนการใช้มือซ้าย:มือขวา โดยที่จำนวนค่าเปอร์เซนต์ของตัวเลข จะนำเอาครั้งที่ต้องกดยกแคร่ของผังแป้นแต่ละแบบมาคิดคำนวณด้วย จะได้ออกมาดังนี้

- เกษมณี 34.92 % : 65.65 %

- ปัตตะโชติ 47.93 % : 53.95 %

- มนูญชัย 47.94 % : 54.54 %

ตัวเลขสองฝั่ง รวมแล้วได้ไม่ถึง 100 เพราะผมไม่ได้เอาช่องว่าง กับตัวอักษรนอกผังมาคิดรวมด้วย แต่ก็ไม่ได้หักออกจากจำนวนรวมของตัวอักษร


ทีนี้มาดูจำนวนครั้งที่ต้องกดแป้นยกแคร่เพิ่ม นั่นก็คือ

- เกษมณี 5.82 %

- ปัตตะโชติ 8.58 %

- มนูญชัย 10.37 %

ซึ่งจากจำนวนตัวอักษร 19,667 ตัวอักษร นั้น ผังแป้นมนูญชัยต้องกดแป้นยกแคร่ถึง 2,039 ครั้งเลยทีเดียว สาเหตุนี้เกิดจากการที่มนูญชัยใช้แนวคิดว่าจะยัดตัวอักษรไทยทั้งหมดให้อยู่ใน 3 แถวเท่านั้น จึงทำให้เวลาพิมพ์ต้องกดแป้นยกแคร่กันรัวๆ และการกดแป้นยกแคร่แต่ละครั้งก็เป็นการเพิ่ม load ให้กับนิ้วก้อยด้วย

และจากการทดสอบด้วยตัวอย่างเอกสารหลายๆ แบบจำนวนนับแสนตัวอักษร (ทั้งนิยาย กระทู้พันทิปสารพัดห้อง โพสต์เฟซบุ๊ก ข่าวประชาสัมพันธ์ ฯลฯ) พบว่าจำนวนครั้งที่ต้องกดแป้นยกแคร่ เกษมณี +5%, +ปัตตะโชติ 8%, +มนูญชัย 10% (เป็นค่าโดยประมาณที่ปัดเศษทิ้งทุกผังแป้นพิมพ์)

ซึ่งเมื่อเอาจำนวนครั้งของการกดแป้นยกแคร่มาคำนวณด้วย จะกลายเป็นว่าจำนวนครั้งของการใช้แต่ละนิ้วจะเป็นดังนี้

เกษมณี : ชี้ 39.77% / กลาง 21.94% / นาง 17.11% / ก้อย+ยกแคร่ 24.63%

ปัตตะโชติ : 43.11% / กลาง 23.52% / นาง 16.15% / ก้อย+ยกแคร่ 23.43%

มนูญชัย : ชี้ 42.96% / กลาง 22.33% / นาง 16.95% / ก้อย+ยกแคร่ 25.54%

กลายเป็นว่าผังแป้นพิมพ์มนูญชัย ใช้นิ้วชี้มากสุด รองลงมาคือนิ้วก้อย ซึ่งที่จริงแล้วควรจะเป็นนิ้วกลางมากกว่า ดังนั้นถ้านำเอาจำนวนการกดแป้นยกแคร่มาคำนวณด้วย ก็น่าจะต้องปรับผังแป้นพิมพ์กันใหม่

และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเล็กๆ ก็คือแป้นหลักของมนูญชัย ไม่มีตัวอักษร . , / ' ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการกด AltGr แต่ปัญหาคือมนูญชัยวางตำแหน่งอักษรพวกนี้ไว้ที่เดียวกับภาษาอังกฤษเพื่อการจำง่าย แต่ทำให้การกดจาก AltGr ที่เป็น Alt ขวา จะกดปุ่มพวกนี้ได้ค่อนข้างลำบาก ซึ่งหลังจากพยายามทดลองมาระยะหนึ่ง ผมพบว่ากดเปลี่ยนภาษายังเร็วกว่ากดจาก AltGr (ผมตั้งค่าปุ่มเปลี่ยนภาษาเป็น Left Shift + Left Alt) ดังนั้นถ้าต้องการให้กดได้เร็วขึ้น ก็คงต้องเพิ่มอักษรพวกนี้ในตำแหน่งใหม่

คงต้องไปออกแบบผัง layer 3 ของ AltGr ใหม่อีก

ส่วนตัวอักษรที่ไม่ได้มีอยู่ในผังแป้นพิมพ์หลักนั้น ถ้าหากดูจากภาพประกอบที่แปะไว้ จะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นตัวอักษรที่อยู่ในกรณีปกติซักเท่าไหร่ เพราะผมใช้ ‘’ (อัญประกาศเดี่ยว) กับ … (ไข่ปลา) ซึ่งจะเห็นในนิยาย แต่ในเอกสารที่เราพิมพ์จริงๆ โดยทั่วไปนั้นแทบไม่ได้ใช้เลย (พิมพ์ด้วยตัว ' กับ . สามจุด) แต่จะเป็นพวกตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตัวเลขอารบิก ซะมากกว่า และถ้าเป็นพวกโพสต์ก็จะมี # ด้วย

แต่จุดสังเกตก็คือเรื่องของตัวเลขอารบิก เพราะการใช้งานโดยปกติของคนทั่วไปที่ไม่ได้พิมพ์เอกสารราชการ แทบจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับตัวเลขไทยเลย ดังนั้นถ้าแป้นพิมพ์มีแป้นตัวเลขแยกมาต่างหาก ก็จะทำให้พิมพ์เลขได้สะดวกขึ้น แต่จังหวะการพิมพ์ก็จะขาดช่วงไปบ้าง

จุดสังเกตอีกจุดหนึ่งคือผังแป้นพิมพ์ปัตตะโชตินั้นพยายามยัดตัวอักษรไทยลงใน 3 แถวเช่นกัน (มีเพียงสระอุและสระอู ที่ระเห็ดขึ้นไปอยู่ข้างบน) แต่จำนวนครั้งการยกแคร่น้อยกว่าผังแป้นมนูญชัยพอสมควร จุดนี้ผมยังไม่ได้วิเคราะห์โดยละเอียด แต่ตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่าปัตตะโชติพยายามย้ายตัวอักษรใช้น้อยไปอยู่ที่ยกแคร่ ส่วนมนูญชัยเอาตัวอักษรใช้บ่อยรองลงมาไปอยู่ยกแคร่แถวแป้นเหย้า




ผมไม่ได้รู้สึกว่าแป้นมนูญชัยคือความเลิศล้ำดั่งภูษาไร้ตำหนิ และก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือความเลวร้ายที่จะมาล้มล้างความเคยชิน

สิ่งที่ผมได้จากแนวคิดของการออกแบบผังแป้นพิมพ์มนูญชัยก็คือ ในปัจจุบัน การเปลี่ยนผังแป้นพิมพ์นั้นสามารถทำได้สะดวกมากขึ้น ดังนั้นถ้าแป้นพิมพ์ที่ใช้อยู่มันมีอะไรที่ไม่ตอบสนองความต้องการของเรา เราก็จัดการแก้ไขมันซะ!

ในเมื่อเราไม่ได้ใช้เลขไทย ก็แก้ไขแป้นพิมพ์ให้เป็นเลขอารบิก ถ้าอยากได้ปุ่มไหนเพิ่ม อยากย้ายปุ่มไหนไปไว้ตรงอื่น ก็จัดการมันซะ!

ผังแป้นมนูญชัย เป็นการจับตัวหนังสือไทยยัดลงไปให้เหลือ 3 แถว จึงต้องกดแป้นยกแคร่เพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่ว่าสำหรับคนทั่วไปแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำไทยให้เป็น 3 แถว? เราสามารถออกแบบผังแป้นแบบ 4 แถวได้ โดยที่ตัวเลขประสิทธิภาพจากอัลกอริทึมมนูญชัยจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แล้วเอาแป้นที่ใช้น้อยไปใส่ไว้ใน AltGr นี่จะทำให้การพิมพ์ของเราสะดวกขึ้นอีกเยอะ

แต่ผมไม่ได้อยากออกแบบผังแป้นพิมพ์เองหรอก เพราะขี้เกียจ ฮ่าๆ แต่มีการปรับแก้ไขผังเกษมณีที่ใช้อยู่ ให้ตอบสนองความต้องการมากขึ้น เช่นเปลี่ยนเป็นเลขอารบิก และใส่ AltGr เครื่องหมายที่ตัวเองใช้บ่อยๆ ลงไป ทำให้เราไม่ต้องสลับไปใช้แป้นพิมพ์อังกฤษอีก นอกเสียจากว่าจะต้องพิมพ์ตัวอักษรอังกฤษ


ถ้ามีเวลาก็อยากจะลองหัดแป้นพิมพ์มนูญชัยเหมือนกันนะ แต่ว่าตอนนี้เรียกได้ว่ามีงานที่ต้องพิมพ์ยาวๆ แทบทุกวัน การหัดแป้นพิมพ์ใหม่ตอนนี้จะส่งผลให้พิมพ์ด้วยผังแป้นพิมพ์เดิมได้ช้าลงเยอะมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบการทำงานมากไป เลยใช้วิธีดัดแปลงผังแป้นเกษมณีแทน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น