วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ใช้งาน Virtual Desktop on Windows 8

ฟีเจอร์หนึ่งของ Linux ที่ผมชอบก็คือ Virtual Desktop

Virtual Desktop คืออะไร? มันคือหน้าจอเสมือนนั่นแหละ

โดยปกติเวลาทำงานเราจะมีหน้าจออยู่หน้าจอเดียว ซึ่งบางทีในการทำงานในทุกวันนี้ บางคน (อย่างเช่นผม) จำเป็นต้องใช้งานหลายๆ หน้าต่างโปรแกรม และในหลายครั้งเราไม่สะดวกนำจอที่สองมาต่อ

การที่มีหน้าจอเพียงหน้าจอเดียว แล้วต้องเปิดหลายๆ หน้าต่างนั้น มันจะซ้อนทับกัน เวลาจะเปลี่ยนไปดูหน้าต่างอื่นก็ต้องไปกดเลือกที่ taskbar หรือกด Alt + Tab ไปเรื่อยๆ เพื่อสลับเรียกหน้าต่างอื่นขึ้นมาดู

ตัวอย่างเช่น งานเขียนเว็บโปรแกรม ผมต้องเปิดหน้าต่างโปรแกรม กับหน้าต่างแสดงผล หรืองานแปลเอกสาร ผมต้องเปิดหน้าต่างสำหรับการแปล หน้าต่างข้อความต้นฉบับ หน้าต่างข้อมูลที่ใช้ค้นหา หน้าต่างพจนานุกรม

ซึ่งการมี Virtual Desktop นั้นช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ได้พอควร เพราะถ้าเราใช้หน้าจอเดียว เราจะต้องกดสลับการแสดงผลของหน้าต่าง หรือว่าถ้าเราย่อขนาดหน้าต่างให้เล็กลงเพื่อจะแสดงหลายหน้าต่างพร้อมกัน มันก็ค่อนข้างอึดอัดเรื่องพื้นที่แสดงผลหรือขนาดตัวอักษร

การใช้ Virtual Desktop จะเป็นหน้าจอเสมือนที่เหมือนมีหน้าจอให้ใช้หลายๆ หน้าจอ โดยสลับไปมาแต่ละหน้าจอ ซึ่งการกดสลับหน้าจอเสมือนนั้นเร็วและสะดวกกว่าการกด Alt + Tab เพื่อสลับหน้าต่างมาก โดยเฉพาะเวลาที่มีหน้าต่างเปิดไว้หลายๆ หน้าต่าง และสะดวกกว่าจิ้มเลือกใน taskbar ด้วยเช่นกัน

Linux นั้นโดยปกติจะเปิดหน้าจอเสมือนไว้เป็นค่ามาตรฐานให้ 4 หน้าจอ สามารถเพิ่มลดเองได้อีก ผมใช้ elementary OS (based on Ubuntu) จะใช้ปุ่ม Super + ลูกศร ส่วน Linux Mint จะใช้ Ctrl + Alt + ลูกศร

ในบางครั้งพอมาใช้เครื่องที่เป็น Windows ผมก็จะขัดใจเรื่องหน้าจอเสมือนนี่ตลอด คือเคยลองใช้หน้าต่างเสมือนบน Windows แต่ว่ามันกดเปลี่ยนหน้าจอได้ไม่สะดวก

จนวันนี้มาใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เป็น Windows 8 ความขัดใจก็มาอีกเช่นเคย

เลยลองค้นดูเรื่อง Virtual Desktop อีกครั้ง แล้วเจอว่าที่จริงแล้วทาง Microsoft ก็ทำไว้ให้ใช้ตั้งแต่สมัย Windows NT 4 (ทำไมก่อนหน้านี้ไม่เจอมาก่อน 😂) แต่ว่าไม่มี user interface ดังนั้นจึงต้องโหลดโปรแกรมเสริมของ Microsoft มาด้วย ซึ่งมีชื่อว่า Desktop ( จิ้มดาวน์โหลดรุ่น 2.01 จากนี่ได้เลย)

ข้อดีของโปรแกรมตัวนี้คือขนาดที่เล็กมาก เพียงแค่ 199 KB เท่านั้น และเป็นโปรแกรมแบบ Portable แค่แตกซิปแล้วก็ใช้ได้เลย การเปลี่ยนหน้าจอเสมือนก็ทำได้สะดวก ดีกว่าโปรแกรมหน้าจอเสมือนบน Windows ที่เคยลองใช้มาก่อนเยอะมาก เรียกได้ว่าแทบไม่ต่างจากของ Linux เลย

หลังจากดาวน์โหลดมาแล้ว จะได้ไฟล์ Desktops.zip จากนั้นก็แตกไฟล์แล้วไปหาที่วางที่เหมาะๆ

ในโฟลเดอร์ที่แตกออกมาจะมีไฟล์อยู่ 3 ไฟล์ คือ

  • Desktops.exe
  • Desktops64.exe
  • Eula.txt


ถ้า Windows เราเป็น 64 บิต ก็เลือกใช้ Desktop64.exe

เมื่อเปิดโปรแกรมขึ้นมาแล้ว ที่ system tray ที่ขวาล่างจะมีไอคอนเป็นรูปหน้าต่าง 4 บาน


เมื่อคลิกที่ไอคอน จะแสดงหน้าจอเสมือนขึ้นมาให้เลือก แต่ถ้าคลิกขวาก็จะมีหน้าต่างการตั้งค่าปรากฏขึ้นมา


ค่ามาตรฐานของการเปลี่ยนหน้าจอเสมือน คือกดปุ่ม Alt ค้างไว้ แล้วตามด้วยตัวเลข 1 หรือ 2 หรือ 3 หรือ 4 ซึ่งเป็นหมายเลขหน้าจอเสมือนที่มีอยู่ (มีให้เลือกแค่ 4 หน้าจอ แต่แค่นี้ก็พอแล้ว)

แต่ถ้าใครอยากเปลี่ยนใช้แป้นอื่น ก็เลือกได้ตามตัวเลือกที่เห็นในรูปตามสะดวก ของผมเลือกเป็น Alt + Control + ตัวเลข เพื่อให้ใกล้เคียงกับ Linux

และถ้าอยากให้โปรแกรม Desktop นี้ทำงานเองทุกครั้งเวลาที่เข้า Windows มา ก็ติ๊กถูกที่ช่อง Run automatically at logon ไว้ด้วย

เท่านี้เราก็มีหน้าจอเสมือนให้ใช้งานบน Windows ล่ะ เพียงแต่ว่าฟีเจอร์นี้ก็ยังคงไม่ดีเท่ากับ Linux นั่นคือไม่สามารถย้ายหน้าต่างโปรแกรมไปไว้ที่หน้าจอเสมือนอันอื่นได้ + ไม่สามารถเปิดโปรแกรมเดียวกันใน 2 หน้าจอได้ + ไม่สามารถเรียกใช้ปุ่ม Windows (ปุ่ม Start) จากหน้าจออื่นได้ แต่ก็ยังพอใช้แก้ขัดไปได้บ้าง

ตอนนี้โปรแกรมที่เรียกใช้งานได้หลายหน้าจอ ก็มี File Explorer กับ Notepad


** ข้อมูลเพิ่มเติม **

เมื่อตอนที่สลับไปหน้าจอเสมือนในครั้งแรก Windows จะสร้างหน้าจอขึ้นมาด้วยการสร้างสำเนาของ Explorer.exe (Explorer คือแกนหลักของการแสดงหน้าจอของระบบ Windows) ซึ่งหน้าต่างโปรแกรมที่เปิดขึ้นมาในหน้าจอเสมือนแต่ละหน้าจอนั้นจะแสดงเฉพาะในหน้าจอของตัวเองเท่านั้น ไม่ปรากฏขึ้นในหน้าจออื่น ดังนั้นจะไม่สามารถใช้ปุ่ม Alt + Tab หรือจิ้มสลับหน้าต่างจาก taskbar ได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ควรจะเป็นตามนี้อยู่แล้ว ซึ่งใน Linux เองก็เป็นแบบนี้เช่นกัน

และนอกจาก taskbar แล้ว เจ้า system tray เองก็เป็นของใครของมันด้วยเหมือนกัน แต่ไอคอนของเจ้า Virtual Desktop จะตามไปอยู่ใน system tray ของทุกหน้าจอด้วยนะ

* * * * *

[Keywords]

Windows, Virtual Desktop, หน้าจอเสมือน

* * * * *

[Reference]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น