วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ใช้เครื่อง e-Reader พิมพ์งานและการติดตั้งแป้นพิมพ์บลูทูธ

มีคนถามเรื่องการใช้ Android e-Reader สำหรับพิมพ์งาน (นิยาย) ว่าจะไหวไหม เลยถ่ายวิดีโอให้เขาดู และไหนๆ ก็ถ่ายมาแล้ว ก็เลยมาเขียนบล็อกไว้ เวลามาค้นจะได้ค้นง่ายๆ หน่อย

เครื่อง Android e-Reader นั้นสามารถติดตั้งแอปเพิ่มได้ ทำให้นำมาใช้พิมพ์งานได้เหมือนกันโดยมีข้อดีคือการมองหน้าจอแบบ e-Ink นานๆ แล้วไม่ล้าสายตาเพราะคล้ายกับการมองหน้ากระดาษ



แต่ปัญหาของเครื่อง e-Reader คือการแสดงผลและการทำงานจะหน่วงๆ หน่อย ถ้าลองฟังเสียงเคาะแป้นพิมพ์ในคลิปก็จะได้ยินว่าเคาะแป้นไปรัวๆ แล้วตัวหนังสือถึงค่อยขึ้นตามหลังมา ซึ่งถ้ารับตรงนี้ได้ ก็สามารถนำเครื่อง Android e-Reader มาใช้เป็นหน้าจอทำงานได้ โดยเครื่องที่ผมใช้คือ Boox Poke Pro ที่ซื้อมาเมื่อกลางปี 2562 ถ้าซื้อรุ่นใหม่ๆ ก็น่าจะเร็วกว่านี้หน่อย

การใช้พิมพ์เอกสาร ถ้าสะดวกก็ควรเป็นแอปที่สามารถซิงก์ให้ใช้งานได้หลายอุปกรณ์ อย่างเช่น Google Doc หรือ MS Word Online โดยปกติผมพิมพ์งานด้วย Google Doc อยู่แล้วก็เลยเลือกใช้แอปนี้

ภาพในวิดีโอ ผมตั้งหน้ากระดาษ A5 ตัวอักษร 18pt พื้นหลังสีเหลืองส้ม เพราะเวลาทำงานบนหน้าจอคอม/มือถือ/แท็บเล็ต มันไม่แสบตาเหมือนพื้นหลังขาว สร้างเป็นเท็มเพลตใช้สำหรับงานพิมพ์โดยเฉพาะ หน้าเอกสารในวิดีโอเลยจะออกเป็นเทาอ่อนๆ

นอกจากเรื่องความหน่วงแล้ว ปัญหาอีกเรื่องก็คือรอยตัวหนังสือที่เรียกว่า Ghost บางคนอาจจะรำคาญ แต่ผมใช้ e-Reader มานานแล้วก็เลยชินกับจุดนี้ ถ้าอยากให้มีเงาตัวหนังสือน้อยลง ก็ให้ปรับการรีเฟรชได้

การนำแป้นพิมพ์บลูทูธมาต่อกับ Boox ถ้าหากไม่ได้ติดตั้งแอปอื่นเพิ่ม เครื่องรุ่นของผมสามารถใช้งานได้เลย แต่เนื่องจากบนคอมพิวเตอร์นั้น ผังแป้นพิมพ์ที่ผมใช้ ไม่ได้เป็นผังเกษมณีทั่วไป เพราะผมใช้แป้น Keychron K3 ที่ซื้อเมื่อปลายปี 2564 ซึ่งมันเป็นแป้นพิมพ์แบบ 75% ไม่มีแป้นตัวเลข num pad ผมเลยต้องติดตั้งแอป More Physical Keyboard Layouts จากใน Google Play Store เสียก่อน ซึ่งผมติดต่อผู้พัฒนาแอปนี้ให้ช่วยเพิ่มผังแป้นพิมพ์พิเศษเข้าไป และเพิ่งทำให้เมื่อเดือนสิงหานี้เอง

ผังแป้นพิมพ์ของเดิมมีแค่เกษมณี ปัตตะโชติ ที่เพิ่มเข้ามาก็คือผังแป้นพิมพ์มนูญชัย นอกจากนั้นก็มีผังแป้นพิมพ์สำหรับนักเขียน ที่มีการปรับตำแหน่งบางปุ่มให้เหมาะสำหรับพิมพ์นิยาย/บทความ โดยไม่จำเป็นต้องสลับเป็นภาษาอังกฤษ (แอปแป้นพิมพ์บลูทูธสำหรับพิมพ์ภาษาไทยบนมือถือแอนดรอยด์ More Physical Keyboard Layouts)

หลักๆ ที่ปรับแก้คือเปลี่ยนตัวเลขไทยเป็นเลขอารบิก ย้ายตำแหน่งให้ตรงกับตัวเลขในแป้นอังกฤษ เพิ่มสัญลักษณ์ที่ใช้ในงานเขียนบ่อยๆ เช่น ‘’ “” … ! รวมถึงพวกสัญลักษณ์ต่างๆ และตัวเลขไทย โดยย้ายไปใส่ใน Layer 3 การใช้งานคือกดปุ่ม Alt ขวามือค้างไว้ก่อน ถึงค่อยกดปุ่มอื่นๆ ดังนั้นจึงมีแป้นอักขระครบถ้วนโดยไม่จำเป็นต้องสลับไปกดแป้นในภาษาอังกฤษเลย (ยกเว้นต้องการพิมพ์ตัวอักขระภาษาอังกฤษ)

แอปนี้ใช้การสลับภาษาคือปุ่ม ctrl และ spacebar


การใช้งานแอปนี้ มีขั้นตอนดังนี้

1. เชื่อมต่ออุปกรณ์ Android e-Reader กับแป้นพิมพ์บลูทูธ ให้สามารถใช้งานได้

2. เข้าไป Google Play Store เพื่อติดตั้งติดตั้งแอป More Physical Keyboard Layouts

3. เข้าแอปอะไรก็ได้ที่สามารถกดพิมพ์ข้อความได้ ให้อยู่ในสภาพที่เคาะแป้นพิมพ์แล้วตัวอักษรจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอ

4. จิ้มที่ตำแหน่งด้านซ้ายบนเพื่อเรียกตัวเลือกการตั้งค่าแป้นพิมพ์แบบ external จะมีหน้าต่างให้กด

5. กดเลือกที่ Set up keyboard layouts

6. เปิดตัวเลือกภาษาที่ต้องการพิมพ์ จะมี English (US) สำหรับพิมพ์อังกฤษ ส่วนแป้นพิมพ์ไทยจะมีหลายตัวเลือกคือ Thai Kedmanee (เกษมณี), Thai Manoonchai (มนูญชัย), Thai Pattachote (ปัตตะโชติ) ด้านล่างชื่อแป้นพิมพ์จะเขียนว่า Extra keyboard layouts คือผังแป้นพิมพ์จากแอป More Physical Keyboard Layouts ซึ่งแป้นภาษาไทยจะมีตัวเลือกเพิ่มดังนี้

- Writer เป็นรุ่นที่ดัดแปลงสำหรับนักเขียน

- non-ShiftLock คือต่อให้เรากด Caps Lock ค้างไว้ก็ไม่มีผลอะไร แต่ถ้าไม่มีคำนี้ เวลากด Caps Lock ไว้ มันจะเป็นการกดยกแคร่ค้าง

**ถ้าต้องการใช้ผังแป้นพิมพ์แบบธรรมดา ในภาษาอังกฤษให้เลือก English ส่วนภาษาไทยให้เลือกเป็น Thai Kedmanee (non-ShiftLock) หรือไม่ก็ Thai Kedmanee แต่ถ้าต้องการให้พิมพ์สะดวกสำหรับงานเขียน โดยไม่ต้องคอยสลับภาษาไปๆ มาๆ เพื่อพิมพ์ตัวเลข (กรณีแป้นพิมพ์ไม่มี numpad) ให้เลือกเป็น Thai Kedmanee Writer (ผังแป้นพิมพ์แบบ Writer นี้ สระอูจะอยู่ตำแหน่ง ฤ ส่วน ฤ อยู่ตำแหน่งเลขศูนย์ไทย)**

7. เลือกผังแป้นพิมพ์ที่ต้องการใช้งานให้เรียบร้อยก็กดย้อนกลับ เป็นอันเสร็จสิ้น พร้อมใช้งานได้



**หมายเหตุ** แอปนี้ใช้งานกับโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตระบบ Android ได้แทบทั้งหมด ยกเว้นยี่ห้อ Samsung เนื่องจากทางค่ายนี้มีการล็อกไม่ให้ใช้ผังแป้นพิมพ์ตัวอื่น ดังนั้นหากต้องการใช้งานบนอุปกรณ์ Samsung ต้องไปติดตั้งแอปที่ชื่อว่า More Thai Physical Keyboards for Android โดยต้องดาวน์โหลดไปติดตั้งในอุปกรณ์เอง เนื่องจากผู้พัฒนาแอปนี้ไม่ได้เอาแอปขึ้น Google Play Store โดยดูวิธีการตั้งค่าแบบคร่าวๆ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=XHG0YaabbDA เป็นวิดีโอที่ทางผู้พัฒนาทำไว้ จะดูยากไปบ้าง เอาไว้ทีหลังผมจะบันทึกวิดีโอใหม่ให้ดูง่ายกว่านี้ ผังแป้นพิมพ์ทั้งหมดจะเหมือนกับในแอป More Physical Keyboard Layouts

แอปนี้เปลี่ยนภาษาโดยการกด ctrl ค้างไว้แล้วกด shift เมื่อปล่อยมือแล้วจึงเป็นการสลับภาษา


※※※※※


[ Keywords ]

e-reader, bluetooth keyboard

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น