วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กล่องโฟมเป็นอันตรายจริงหรือไม่?

ช่วงนี้เจอการแชร์ข้อมูลเรื่องกล่องโฟม เป็นอันตรายต่อชีวิตกันมาก และคนก็เชื่อกันโดยง่าย เพราะข่าวพวกนี้มักจะจับแพะชนแกะให้ดูน่าเชื่อถือ แม้แต่สถานีโทรทัศน์ช่องน้อยสียังเคยเอามาเล่าว่าสาวไต้หวันเสียชีวิตเพราะกินกุ้งกับวิตามินซี ทั้งๆ ที่ข้อมูลทั้งหลายนั้นสุด "มั่ว"

เรื่องกล่องโฟมนี่ก็จับแพะชนแกะมั่วสุดๆ

กล่องโฟมนั้นเป็นขยะที่ทำลายระบบนิเวศน์ ไม่สามารถย่อยสลายโดยง่าย และ ฯลฯ
ซึ่งถ้าจะเลิกใช้ (หรือใช้ให้น้อยลง) ผมเห็นด้วยและเชียร์ในประเด็นนี้ (เนยรักษ์โลกค่ะ ฮ่า)
แต่ไม่ใช่เลิกใช้เพราะข้อมูลมั่ว ที่ทำให้เข้าใจผิด!

ลองมาดูกันในประเด็นของเรื่องกล่องโฟมว่า "มั่ว" อะไรบ้าง?





ข้าวกล่องม่องเท่ง! อันตรายจากกล่องโฟม!

นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้ว่ากล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป (Styrofoam) เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประกอบด้วยสารสไตรีน (Styrene) มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง

อาหารตามสั่งที่บรรจุกล่องโฟมจึงเป็นแหล่งสะสมสารสไตรีน ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้สมองมึนงง สมองเสื่อมง่ายหงุดหงิดง่าย มีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และเป็นสารก่อมะเร็งอีก 3 ชนิด

ถ้าเป็นผู้ชายรับประทานเข้าไปมากๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม และทั้งสองเพศมีโอกาสสูงต่อการเป็นมะเร็งตับ แม้จะไม่ได้ดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำก็ตาม

สำหรับสไตรีนถือเป็นสารอันตรายที่สหรัฐเพิ่งประกาศขึ้นบัญชีสารก่อมะเร็ง หญิงมีครรภ์ที่รับประทานอาหารบรรจุในกล่องโฟม ลูกมีโอกาสสมองเสื่อมเป็นเอ๋อ อวัยวะบางส่วนพิการ ส่วนคนทั่วไปถ้ารับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า

ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสไตรีนในกล่องโฟมได้ง่ายถึง 5 ปัจจัย ได้แก่
  1. อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง ทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง
  2. ถ้าปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชูแอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ
  3. ถ้าซื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก
  4. ถ้านำอาหารที่บรรจุโฟมเข้าไมโครเวฟ สไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก และ
  5. ถ้าอาหารสัมผัสพื้นที่ผิวกล่องโฟมมากๆ รวมถึงร้านไหนตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร ขอบอกว่าได้รับสารก่อมะเร็ง 2 เด้ง ทั้งสไตรีนและไดออกซินจากถุงพลาสติกเลยทีเดียว
นพ.วีรฉัตร เตือนว่าอาหารตามสั่ง หรือข้าวราดแกงที่มักมาคู่กับไข่ดาว หรือไข่เจียวร้อนๆ ขอเตือนว่า ไข่ดังกล่าวจะไปละลายผนังกล่องโฟม เสมือนรับประทานอาหารคลุกสไตรีนไปด้วย ถึงกระนั้นไข่ดิบที่วางขายในแผงไข่พลาสติก สารสไตรีนมีโอกาสวิ่งเข้าในเปลือกไข่ได้เช่นกัน ถ้าเลือกไข่ดิบควรเลือกซื้อจากแผงไข่กระดาษจะปลอดภัยที่สุด มนุษย์ ข้าวกล่องอย่ามัวซื้อความสะดวกสบาย จนลืมใส่ใจสุขภาพของตัวเอง ถ้ายอมให้ร่างกายเริ่มสะสมสไตรีนตั้งแต่วันนี้ รับรองวันหน้าหนีไม่พ้นมะเร็งตัวร้ายเป็นแน่!!!!!


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


ก่อนอื่นเลย ผู้ให้ข้อมูลนี้คือ นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกล่องบรรจุอาหารที่ทำจากชานอ้อย จัดว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับข่าวโดยตรง เปรียบได้กับข่าวให้ร้ายฝ่ายคู่แข่ง เพื่อขายสินค้าตัวเอง

ต่อไปก็มาดูว่า ข้อมูลส่วนไหนบ้าง ที่ "มั่ว"

ข้อมูลนำมาจากคุณ digimontamer ที่เว็บพันทิป ซึ่งอธิบายให้อ่านได้เข้าใจง่าย และถ้าสนใจค้นคว้าข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มเติม มีข้อมูลอีกมากที่ยืนยันในสิ่งที่คุณ digimontamer บอกไว้

.
.

กล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป (Styrofoam) เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

***** สไตรีนนั้นได้มาจากการเอาเอทิลเบนซีนไปผ่านปฏิกิริยา dehydrogenation และเอทิลเบนซีนก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างเอทีลีนและเบนซีน แม้จะพบเอทิลเบนซีนบ้างจากกระบวนการกลั่นพวก crude oil แต่ก็มีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นเอทิลเบนซีน จะผลิตมาจากการผสม เอทีลีนเข้ากับเบนซีนเป็นหลัก

ต่อมาก็คือกระบวนการผลิตพอลิสไตรีน จาก สไตรีน นั้น ก็คือการพอลิเมอร์ไรซ์ตัว styrene ให้กลายเป็นพอลิเมอร์ เมื่อจะเอาไปทำโฟม ก็จะนำเม็ด PS ไปผสมกับ blowing agent หรือสารที่โดนความร้อนแล้วจะปล่อยพวกก๊าซออกมา ทำให้เกิดเป็นวัสดุที่มีรูพรุน

ปี 2011 สหรัฐอเมริกาขึ้นทะเบียนว่าสไตรีนเป็นสารที่มีแนวโน้มก่อมะเร็งจริงๆ และการสลายตัวของ PS ก็สามารถก่อให้เกิดสารอันตรายที่ก่อมะเร็งได้หลายตัว ทั้ง styrene, benzene, toluene เป็นต้น แต่ว่าข้อมูลจากนพ.วีรฉัตรนั้นมีการบิดเบือนหลายประการทีเดียว

.
.

อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง ทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง

***** การเย็นลงไม่ได้มีส่วนทำให้สไตรีนมอนอเมอร์สลายตัวออกมาแต่อย่างใด และการสลายตัวของ PS ให้ได้สไตรีนนั้น PS foam นั้นมีจุดหลอมเหลวไม่สูงมากนักก็จริง แต่จุด degradation temp ของมันค่อนข้างสูง
มีงานวิจัยเสนอที่ทดสอบด้วย TGA-FITR  หรือ pyrolysis-GC ระบุว่าไม่มีการสลายตัวของ PS ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 220 C ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่อาหารอย่าง ข้าวหรือแกงที่ราด จะมีอุณหภูมิถึงระดับนั้นได้

.
.

ถ้าปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชูแอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ

***** PS ถูกละลายโดยน้ำมันได้ง่าย แต่ด้วยอุณหภูมิต่ำ น้ำมันไม่สามารถทำลายพันธของ PS ทำให้เกิดการสลายตัวได้
น้ำส้มสายชูและแอลกอฮอล์ ก็ไม่สามารถทำปฏิกิริยา hyrolysis สายโซ่ PS ได้เช่นกัน

.
.

ถ้าซื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก

***** PS มีความคงตัวสูงที่อุณหภูมิห้องและแสงแดด ยกเว้นคุณเอาไปใส่อาหาร แล้วเอาไปฉายรังสี UV ที่ irradiance สูงๆ จะทำให้เกิดการสลายตัวของ PS ปลดปล่อยพวกสไตรีนออกมาได้เช่นกัน แต่ในชีวิตประจำวัน จะมีใครในโลกเอาของกินใส่กล่องไปอาบแสง UV ในเตาอบ UV watt สูงๆ ก่อนกินไหม?

.
.

ถ้านำอาหารที่บรรจุโฟมเข้าไมโครเวฟ สไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก

***** คลื่นไมโครเวฟ ไม่มีพลังงานเพียงพอจะทำลายพันธะโคเวเลนต์ระหว่าง C-C ได้ แต่ก็ไม่ควรเอามันเข้า microwave อยู่ดี เพราะมันทนความร้อนไม่ได้สูงนัก จุดหลอมเหลวของมันไม่สูงมาก

.
.

ถ้าอาหารสัมผัสพื้นที่ผิวกล่องโฟมมากๆ รวมถึงร้านไหนตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร ขอบอกว่าได้รับสารก่อมะเร็ง 2 เด้ง ทั้งสไตรีนและไดออกซินจากถุงพลาสติกเลยทีเดียว

***** LDPE film (ถุงพลาสติก) จะเอา dioxin มาจากไหน?

.
.

styrene monomer มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดมะเร็งจริงๆ แต่ polystyrene มันเป็น polymer ที่ inert และมันก็มีขนาดใหญ่จนร่างกายย่อยสลายไม่ได้
หากคุณกินเข้าไปมันก็ออกมาพร้อมกับอุจจาระ เพราะมันไม่ถูกย่อยหรือดูดซึมโดยร่างกาย

.
.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
.
.

ถัดมา เป็นข้อมูลจากคุณ oncodog จากกระทู้เดียวกัน

ที่จริงโพลีเมอร์ของ Styrene มีมากกว่าโฟม แท้จริงแล้วเราสัมผัสมันเกือบตลอดเวลา ตัว Styrene เองสามารถดูดซึมผ่านผิวหนังหรือการหายใจได้ด้วยนอกจากการกิน ในกล่องโฟมแม้จะไม่ได้ใส่อาหารก็มี โมโนเมอร์หลงเหลือจากการผลิตได้

Styrene เมื่อถูกเปลี่ยนแปลงจะได้สารที่สามารถทำลายดีเอ็นเอเหมือนสารเคมีมากมาย พิษต่อระบบประสาทสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับเป็นปริมาณที่สูงมากๆ

ในหนูทดลองพบว่าข้อมูลไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง เนื่องจากบางกรณีศึกษาก็เกิดมะเร็ง บางกรณีศึกษาก็ไม่เกิดแม้จะได้รับปริมาณที่สูงมากๆ ก็ตาม

ในคนพบว่าไม่มีข้อมูลที่ดีพอที่จะสรุปว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่ชัดเจน แม้แต่คนงานในโรงงานผลิตก็ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตามพบว่ามะเร็งโรคเลือดและต่อมน้ำเหลืองสามารถพบได้บ่อยขึ้นกว่าประชากรทั่วไปในบางกรณีศึกษา

ดังนั้นตอนนี้จึงจัด Styrene อยู่ใน Possibly Carcinogen (Category 2B) อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งได้
สารในระดับ 2B เช่น ลูกเหม็น ยาคีโมส่วนใหญ่ ยากันชัก ยาต้านไวรัส AZT สารเคมีในชีวิตประจำวันส่วนมาก

ส่วนโฟมจัดอยู่ใน Not classify as carcinogen (Category 3) ไม่ได้จัดอยู่ในสารก่อมะเร็ง
สารในระดับ 3 เช่น ยาเกือบทั้งหมด คาเฟอีน คลอเรสเตอรอล สารเคมีเกือบ 400 ชนิด

อย่างไรก็ดีสารที่ได้จากการกำจัด Styrene ตัวหนึ่งคือ Styrene 7, 8 Oxide จัดอยู่ในระดับ 2A คือ Probably Carcinogen

โดยสรุป กล่องโฟม Polystyrene ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ Styrene และ อนุพันธ์ ซึ่งสามารถพบได้จากแหล่งต่างๆ มากมายอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ (แต่ระดับต่ำกว่าเหล้า บุหรี่มากมาย)

อ้างอิง Monograph on evaluation of carcinogenic risks to humans, IARC, WHO

.
.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
.
.
กล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป (Styrofoam) เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

***** ของเสียเหลือทิ้งสีดำจากกระบวนการกลั่นน้ำมันนั้น สิ่งที่ได้คือ "ยางมะตอย" ไม่ใช่กล่องโฟม (ดูเพิ่มเติมจาก การกลั่นน้ำมัน และ ยางมะตอย)

.
.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
Keywords
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
โฟม, กล่องโฟม, สารก่อมะเร็ง, อันตราย, มะเร็ง
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น