วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

"เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง" บันทึกสุดท้ายจาก "หมอหงวน"

"ถ้าถามว่ามะเร็งให้อะไร ตอบได้ว่าทำให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันมากขึ้น เพราะแต่ก่อนนั้นผมทำงานมาก ได้เจอกับลูกก็ตอนก่อนนอนกับตอนเช้าเวลาไปส่งเขาไปโรงเรียนอยู่ช่วงหนึ่ง เท่านั้น ส่วนภรรยาผมก็ทำงานมากเช่นกัน ครั้นพอผมป่วยเขาก็อยู่บ้านเป็นเพื่อนผมมากขึ้น ไปเป็นเพื่อนเวลาหาหมอแทบทุกครั้ง รวมทั้งเข้าครัวหัดทำกับข้าวด้วย ส่วนลูกๆ ก็สวดมนต์ไหว้พระ ผมรู้สึกดีใจที่เขาเข้ามาสู่พุทธศาสนามากขึ้น ลูกชายซึ่งตอนนั้นอายุแค่ 11 ปี ยอมบวชให้พ่อและบวชอยู่ที่สวนโมกข์ได้ตั้ง 5 วันซึ่งค่อนข้างจะลำบากสำหรับเด็กอายุขนาดนั้น

"แม้สิ่งที่ดีๆ จะเกิดขึ้นกับผมมากมาย แต่ถึงอย่างไร ผมก็ไม่นึกชอบการเป็นมะเร็งขึ้นมาได้หรอกครับ ถ้าจะให้ดีที่สุดคือผมขอไม่เป็นมะเร็งดีกว่า ในชีวิตผมไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการเป็นมะเร็งอีกแล้ว แต่เมื่อมันเป็นแล้วก็ต้องยอมรับและปรับตัวไป"

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขียนบันทึกสุดท้ายไว้ในหนังสือ "เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง" ก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งปอดที่ป่วยมาเกือบ 5 ปี เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2551 หลังจากเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีกว่า 3 สัปดาห์ สิริรวมอายุ 55 ปี 10เดือน

ในหนังสือเล่มดังกล่าว บอกเล่าเรื่องราวอันเปี่ยมพลังของคุณหมอสงวน ที่วันหนึ่งพลิกชีวิตจากหมอมาเป็นคนไข้ ท่านเป็นแพทย์ชนบทยุค 14 ตุลา 2516 ที่ต่อสู้เรื่องระบบประกันสุขภาพให้กับคนยากจนมาโดยตลอด และมาสัมฤทธิผลในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเมื่อราว 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีปัญหามากมายในการปฏิบัติ คุณหมอก็ไม่ย่อท้อ ท่านลงพื้นที่จนเห็นปัญหาและค่อยๆ แก้ปัญหาไปท่ามกลางการป่วยไข้ที่ต้องใช้กำลังใจมหาศาลเช่นกัน

* * * * * * * * * * * * * * *

หลังจากนัดแรกที่คุณหมอไปเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดกับ หลายๆ หมอ และหลายๆ โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือด ส่องกล้องเข้าไปทางลำคอเพื่อตรวจหามะเร็ง เอ็กซเรย์ การฉีดสีเข้าเส้นเลือด จนพบว่าเป็นมะเร็งที่กลีบปอดขวาด้านล่างอย่างแน่ชัดว่าอยู่ในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย คุณหมอเล่าว่า ตอนที่รู้ผลนั้น คำพูดที่ไม่ควรจะหลุดจากปากหมอมากที่สุดก็คือ "หมอคิดว่าคุณจะอยู่ได้ไม่นาน หรือพูดว่า จากสถิติคนเป็นโรคนี้แล้วส่วนใหญ่จะเสียชีวิตใน 6 เดือนอะไรทำนองนี้" เพราะจะทำให้คนไข้ท้อแท้ จิตตกเป็นอย่างมาก

จากประสบการณ์เป็นคนไข้มะเร็งที่ต้องรักษาตัวยาวนาน และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนี้ในประเทศไทยไม่มากนัก คุณหมอเรียนรู้ว่า แท้จริงแล้ว หมอเองไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง หมอต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับคนไข้เช่นกัน แม้ว่าคนไข้จะเป็นโรคเดียวกันก็ตาม แต่จะมีรายละเอียดของการรักษาที่แตกต่างกันไป คุณหมอบอกว่า คนไข้กับคุณหมอจะต้องทำงานเป็นทีมเดียวกันจึงจะทำให้การักษานั้นๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนไข้ไม่ควรปล่อยให้การรักษาเป็นหน้าที่ของแพทย์เพียงฝ่ายเดียว

ตลอด 4 ปีกว่าของการรักษาและเยียวยา คุณหมอกลับมารับประทานอาหารมังสวิรัติ นั่งสมาธิภาวนา ออกกำลังกาย ไม่กังวล ปล่อยวาง มีมรณสติเป็นเพื่อน พร้อมทั้งตั้งบัญญัติ 10 ประการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้การป่วยกลับกลายเป็น พลังอย่างมหาศาลที่พลิกประวัติศาสตร์ระบบสาธารณสุขในประเทศไทยเลยทีเดียว ขณะเดียวกันคุณหมอเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิตามโครงการ 30 บาทฯ เช่นเดียวกับผู้ป่วยท่านอื่น เพื่อดูว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นมีปัญหาอะไรบ้างในการปฏิบัติ

ตอนหนึ่งคุณหมอบันทึกว่า… ผมก็เหมือนกับผู้ป่วยมะเร็งทุกคนที่อดไม่ได้ที่จะต้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นผม และทำไมต้องเป็นตอนนี้ด้วย แต่อย่างหนึ่งที่ผมภูมิใจคือ หลังจากที่ป่วยทำให้เราซึมซาบถึงความทุกข์ยากของคนไข้ 30 บาทฯ มากขึ้นเพราะประสบการณ์ตัวเอง และผมก็ได้ลงมือปรับปรุงระบบบริการสุขภาพในหลายๆ ส่วนทันที

เรื่องแรกที่คุณหมอลงมือทำก็คือแก้ปัญหาเรื่องคิวผ่าตัด โรคหัวใจ

"ผมมีคนไข้คนหนึ่งมาร้องเรียนว่าภรรยาเขาเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ไปนอนโรงพยาบาล หมอบอกว่าต้องผ่าตัด แต่ปรากฎว่าหมอนัด 8 เดือน เขาก็มาร้องเรียนว่าแล้วภรรยาเขาจะไม่ตายก่อนหรือ  ผมรู้สึกว่าทำไมหมอนัดนานจัง และเมื่อให้เจ้าหน้าที่ไปค้นดูพบว่า อย่าว่าแต่ 8 เดือนเลย 4 ปีก็ยังมีที่กว่าจะได้รับการผ่าตัด...

"แนวคิดที่ผมนำมาใช้ในการแก้ปัญหาคือการบริหารจัดการให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วม กันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะจริงๆ แล้วเครื่องมือแพงๆ รวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ควรต้องถือว่าเป็นสมบัติของส่วนรวม เป็นของประเทศชาติที่สามารถจะเอามาดูแลคนไทยทุกคนได้ และการที่คิวยาวไม่ได้เป็นเพราะประเทศของเราขาดแคลนเครื่องมือหรือบุคลากร แต่เนื่องจากเราอาจมีเส้นแบ่งเรื่องสังกัด เรื่ององค์กร เรื่องความเป็นรัฐ ความเป็นเอกชน เราก็เลยกันของส่วนรวมไว้เป็นของที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น ซึ่งทำให้การใช้ทรัพยากรไม่เต็มที่"

หลังจากนั้นก็มีการประชุมกัน ในเวลาเพียงแค่ประมาณสองเดือนก็ทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ดีมากใน โครงการ 30 บาทฯ

คุณหมอเล่าว่า ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะเรามีระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในหมวดโรคค่า ใช้จ่ายสูง ที่สามารถจะบริหารจัดการจ่ายค่าผ่าตัดให้กับสถานพยาบาลที่ทำการผ่าตัดได้โดย คล่องตัว ซึ่งถ้าไม่มีกองทุนแบบนี้หรือเป็นแบบเดิมที่ต่างคนต่างจ่าย ไม่มีทางที่คนยากคนจนหาเช้ากินค่ำจะมีโอกาสได้เข้าผ่าตัดหัวใจซึ่งมีค่าใช้ จ่ายนับแสนบาทอย่างแน่นอน

"เมื่อผมไปรับการรักษาด้วยคีโม ไปเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต็มตัว ผมก็เห็นปัญหาของการรักษามะเร็งชัดเจนอีก แต่ในเรื่องของมะเร็งกลับกลายเป็นว่า demand side แข็งแรง คือกลุ่มคนไข้มะเร็งได้มารวมตัวกัน ช่วยเหลือกัน ดังนั้นสปสช.จึงได้สนับสนุนเครือข่ายมะเร็งให้ทำกิจกรรมต่างๆ ตอนที่เกิดสึนามิที่ภาคใต้ กลุ่มคนไข้มะเร็งก็คิดกันว่าอยากจะไปช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ ทำให้คนไข้มีความสุข ได้ทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น เรื่องนี้ผมว่ามีความสำคัญมาก เป็นเรื่องในมิติทางจิตวิญญาณที่ไม่ควรจะมองข้าม คือผมคิดว่าคนเรานี่ส่วนใหญ่จะมีศักดิ์ศรีในตัวเองเป็นพื้นฐาน อยากจะเป็นผู้ทำประโยชน์ ยิ่งเป็นผู้ป่วยแล้วก็ยิ่งไม่อยากถูกตอกย้ำว่าไร้ศักยภาพ ไม่อยากที่จะต้องพึ่งพาเป็นภาระของคนอื่นไปตลอด"

จากจุดนั้นคุณหมอ ได้พัฒนาและขยายรูปแบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เรียกว่า "โครงการมิตรภาพบำบัด" ให้เกิดขึ้น จัดอบรมสร้างอาสาสมัครดูแลผู้ป่วย โดยสปสช.สนับสนุนงบประมาณให้โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาโรคมะเร็งประมาณ สิบกว่าแห่งกระจากทุกภูมิภาค

นอกจากโรคมะเร็งแล้ว คุณหมอยังได้ขับเคลื่อนสนับสนุนประชาคมผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องรักษาด้วยการฟอกไตให้เข้มแข็งด้วยการจัดกิจกรรมแบบ "เพื่อนช่วยเพื่อน" จนช่วงท้ายๆ ของปี 2550 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การฟอกไตแบบที่ฟอกทางช่องท้องอยู่ในชุดสิทธิ ประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณหมอรรรงค์มา โดยตลอดคือการแก้ปัญหาเรื่องยาแพง

"ยาที่ผมไปลงชื่อเป็นผู้ทดลองรักษา มะเร็งที่สวิสเซอร์แลนด์เม็ดละ 3-4 พันบาท ต้องกินวันละเม็ด เดือนหนึ่งก็ตก 90,000 บาท คนยากจนไม่สามารถจะเข้าถึงได้ ยาบางอย่างแพงกว่านี้อีก ฉีดเข้าเข็มเดียวสองแสนก็มีจึงเกิดคำถามว่าทำไมยาลิขสิทธิ์มันแพงมากขนาด นั้น ผมก็มาคิดว่าทำยังไงให้ยาถูกลง

"จากกฎหมายการค้าโลกซึ่งดูแลโดยองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ก็มีความเป็นห่วงว่า การป้องกันสิทธิบัตรแบบสุดขั้วจะทำให้คนไข้ที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ จึงได้กำหนดว่า ในกรณีที่เกิดโรคระบาด หรือมีปัญหาในการเข้าไม่ถึงยา หรือเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิก WTO สามารถใช้สิทธิตามข้อตกลงนี้ผลิตยานั้นๆ ขึ้นมาใช้เอง หรือสั่งยาราคาถูกมาใช้โดยไม่ผิดกฎหมายสิทธิบัตร"

คุณหมอจึงเริ่มต้นกับ ยาเอดส์ที่เรียกว่า Antivirance เป็นอันดับแรก

"เราต่อสู้และได้รับ การผลักดันจากกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานโรคเอดส์มานานแล้วว่าให้นำเอายาเอดส์ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในที่สุดเราจึงกล้าที่จะเดินหน้าประกาศว่าเราจะผลิตยาตัวนี้เองหรือสั่งยา ชื่อสามัญที่ราคาถูกกว่าเข้ามาใช้ด้วยเหตุผลที่ว่า โรคเอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ"

* * * * * * * * * * * * * * *

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่คุณหมอสงวนได้วางรากฐานไว้เพื่อให้เกิด หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นจริง ซึ่งท่านบันทึกไว้แล้วในหนังสือเล่มนี้ วิชาชีพแพทย์ของท่านยืนยันหลักการที่ว่า จะไม่ยอมให้เงินตราสามารถมีบทบาทในการต่อชีวิต แต่ควรเป็นความเมตตาและกรุณาต่างหากที่สมควรเกิดขึ้นในทุกสมมติของชีวิต ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หมอ พยาบาล แม่บ้าน แม่ค้า เกษตรกร คนตกงาน หรือแม้แต่คนป่วยทางจิตใจ ก็ควรมีสิทธิในการที่จะได้รับการคุ้มครองและเยียวยาในฐานะที่เป็นมนุษย์คน หนึ่งเช่นเดียวกัน

ล้อมกรอบ

ผู้สนใจร่วมก่อตั้งกองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่อมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ นพ.สงวน ต่อไป ติดต่อได้ที่งานสวดพระอภิธรรม ศาลา 3  วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 25 มกราคม 2551 หรือที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2831-4000 หรือสายด่วนบัตรทอง สปสช.1330 ทุกวัน

(รายงาน พิเศษ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ 817 / มนสิกุล โอวาทเภสัชช์)

ที่มา "เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง" บันทึกสุดท้ายจาก "หมอหงวน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น