“กอด” เป็นการสัมผัสรูปแบบหนึ่งที่มีความพิเศษ จนมีผู้กล่าวว่า การกอดไม่เพียงแต่เป็นสัมผัสที่ดี แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ซึ่งมีทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนแนวคิดนี้มากมาย ว่าการกระตุ้นโดยการสัมผัส เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสรีระร่างกายและจิตใจ
การบำบัดด้วยการกอด
เรารู้ว่าการกอดเป็นสัมผัสที่ดี แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า สามารถใช้เป็นวิธีการเยียวยาผู้ป่วยได้ โดยมีการนำการสัมผัสด้วยการกอดมาใช้ในหน่วยงานทางการแพทย์ใหญ่ ๆ ในต่างประเทศหลายแห่ง กว่า 20 ปีมาแล้ว และยังมีศูนย์ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการสัมผัสอีกด้วย วิธีนี้คือการใช้สัมผัสถ่ายทอดกำลังใจ ความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใยไปสู่ผู้ป่วยประกอบกับการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ช่วยหายเร็วขึ้นและมีกำลังใจสูงขึ้นอีกด้วยDolores Krieger R.N. Ph.D. ผู้เชี่ยวชาญในสาขาการบำบัดด้วยการสัมผัสแห่ง New York University กล่าวว่า บุคคลที่ได้รับการกอดหรือกอดผู้อื่น จะทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของฮีโมโกลบิน ทำให้การลำเลียงของออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานได้อย่างทั่วถึงทำให้สดชื่น มีชีวิตชีวา ส่วน ประเทศแถบเอเชียอย่างอินเดีย ที่ศูนย์ Delhi Sanjivini ศูนย์รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ได้ใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเภทด้วยการกอด โดยจัดหาอาสาสมัครที่จะมาบำบัดผู้ป่วยที่เป็นเพศเดียวกันกับผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยจิตเภทจะมีลักษณะของการถดถอย จึงนำวิธีการรักษาที่เป็นธรรมชาติมาใช้ เช่น ถ้าเด็ก 2 ขวบร้องไห้ ก็นำเด็กมานั่งตัก แล้วโอบกอดไว้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ง่าย ๆ ไม่ต้องอาศัยหลักการใด ๆ ให้ยุ่งยาก
เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ นักบำบัดจิตวิทยาครอบครัวกล่าวว่า คนเราต้องการการกอดวันละ 4 ครั้ง เพื่อการดำรงชีวิต คนเราต้องการการกอดวันละ 8 ครั้ง เพื่อการดำเนินชีวิต และคนเราต้องการกอดวันละ 12 ครั้ง เพื่อการเจริญเติบโต
กอดเพื่อสุขภาพ
อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความเครียดและความกังวลในผู้ป่วย และความเครียดเองก็สามารถนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงของโรคสารพัด เพราะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความดันในเลือดสูงขึ้น การกอด จะช่วยให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายทำงานได้ดีขึ้นได้ สุขภาพจะดีขึ้น ช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า ลดความตึงเครียด ทำให้มีชีวิตชีวา เป็นยาที่วิเศษที่ไม่มีผลข้างเคียง แต่ต้องเป็นกอดที่ออกมาจากใจ ทำด้วยความรักและเมตตาจริง ๆ จึงจะเป็นความอ่อนโยน ที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีพิษภัยมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่า กอดวันละครั้งทำให้ห่างไกลจากการพบแพทย์ (A Hug a Day Keeps The Doctor Away) ซึ่งมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันคำกล่าวนี้มากมาย ดังนี้
- ผลวิจัยทางคลินิกจากสถาบัน The Touch Research Institute ณ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์แห่งไมอามี สหรัฐอเมริกา (University of Miami School of Medicine) ได้ค้นพบว่า "สัมผัสบำบัด" หรือ Touch Therapy มีผลในการลดระดับความกังวลใจช่วยลดระดับฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้ทุเลาลงได้ โดยทดลองใช้วิธีกอดในผู้ป่วยสูงอายุ พบว่า เมื่อใช้การกอดบำบัด ทำให้ผู้สูงอายุ มีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น มีความกระตือรือร้น มีความต้องการที่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดซึมเศร้า
- มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเวอร์จิเนีย และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวิสคอนซินระบุว่า กอดและสัมผัสช่วยทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวมีความเยือกเย็นลง นักประสาทวิทยาได้ให้สตรีที่สมรสแล้ว 16 คน มาอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเครียด แล้วให้อาสาสมัครชายที่มีความเป็นเพื่อนเข้ามาจับมือสตรีเหล่านั้น ผลสแกนพบว่าส่วนของสมองที่ตอบสนองต่อกิจกรรมอันตรายนั้นลดน้อยลง และได้ผลมากขึ้นไปอีกเมื่อผู้ที่ยื่นมือให้จับเป็นคู่สมรสของสตรีเหล่านี้ เอง ทั้งนี้เนื่องจากการที่จิตใจผ่อนคลายลงอาจเป็นเพราะมีใครบางคนอยู่ที่นั่น คอยช่วยเหลืออยู่ ส่วนการสัมผัสในรูปแบบอื่น เช่น การกอด, โอบไหล่ ก็ยังอาจช่วยลดความกระวนกระวาย และลดปริมาณฮอร์โมนความเครียดที่สมองผลิตลงได้
- คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคโรไลนาเหนือของสหรัฐฯ ได้ศึกษาพบอานุภาพของการโอบกอดของคู่สามี-ภรรยา 38 คู่ พบว่า การกอดช่วยให้ระดับของฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรักความผูกพันเพิ่มขึ้น และความดันโลหิตลดต่ำลงได้ เป็นเหตุให้โอกาสของการเป็นโรคหัวใจลดน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะส่งผลอย่างยิ่งกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกันยังปรากฏว่า ผู้หญิงทุกคนยังพลอยมีระดับออร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ลดต่ำลงด้วย
- ศ.เซลดอน โทบ หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้ศึกษาชายและหญิงจำนวน 216 คน เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งแต่ละคนล้วนเคร่งเครียดในงานที่ทำ แต่เมื่อกลับบ้านและได้รับสัมผัสที่ดี และการโอบกอดจากคู่สมรสหรือสมาชิกในครอบครัว พบว่าระดับความดันโลหิตที่สูงขึ้นจากความเครียดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่คนที่อยู่เพียงลำพัง ระดับความดันโลหิตกลับไม่ลดลง
- งานวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจในอังกฤษก่อนหน้านี้ พบความสัมพันธ์ระหว่างเอนไซม์ความเครียด ที่สามารถลดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ โดยพวกเขาได้ศึกษาเอนไซม์ในเซลล์ไขมัน ที่ชื่อว่า "11 เอชเอสดี 1" ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับฮอร์โมนความเครียด "คอร์ติซอล" และจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง แสดงให้เห็นว่ายิ่งระดับเอนไซม์ตัวนี้สูงเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
พลังแห่งกอด
การกอดไม่เพียงแต่ส่งผลต่ออารมณ์เท่านั้น แต่การกอดมีประโยชน์อีกมากมายอย่างที่คุณไม่เคยคิดถึงมาก่อน- ทำให้เรารู้สึกดีต่อตนเอง และสิ่งแวดล้อมคลายความรู้สึกหายเหงา เอาชนะความกลัวได้ เป็นประตูเป็นไปสู่ความสึกอื่น ๆ สร้างความภาคภูมิใจ เป็นการช่วยคนที่ไม่มีใครสนใจ ลดความตึงเครียด และช่วยให้ต่อสู้กับอาการนอนไม่หลับ
- ลดความเจ็บปวดในผู้ป่วย ทั้งที่มีอาการเรื้อรังและไม่เรื้อรัง การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบิน และช่วยให้ร่างกายส่งเลือดมาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณที่บาดเจ็บเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด มีการศึกษาวิจัยโดย Daved Bresler แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสเองเจลลิส ยืนยันว่า จากการทดลองให้ผู้ป่วยหญิงที่ทุกข์ทรมานเพราะความเจ็บปวดก่อนคลอด ได้รับการกอดโดยสามีบ่อย ๆ พบว่า ความเจ็บปวดลดลง
- ลดความรู้สึกในทางลบ เช่น หวาดกลัว กังวล โกรธเกรี้ยว ไม่สบายใจ อันเป็นผลมาจากความป่วยไข้ไม่สบายกาย ในบางรายที่เป็นโรคร้ายชนิดรุนแรง เช่น มะเร็ง เอดส์ นั้น ผู้ป่วยต้องเรียนรู้ว่า เมื่อมีโรคร้ายอยู่ในตัว ชีวิตหลังจากนี้จะต้องเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องกอดผู้ป่วยเพื่อประคองภาวะอารมณ์ ลดความรู้สึกในทางลบ ไม่ท้อแท้ต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายนั้น
- ช่วยการพัฒนาการในเด็กพิการหรือเด็กออทิสติก ทำให้เกิดผลด้านบวกของการพัฒนา IQ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระ การสัมผัสช่วยให้เด็กคลอดก่อนกำหนดได้รับการชดเชยเหมือนอยู่ในตู้อบ ทำให้เด็กเติบโตและมีทักษะในการดำเนินชีวิต
- ช่วยให้คนที่ขาดการกอด หรือการสัมผัสมีอาการดีขึ้น เพราะการกอดหรือการสัมผัส นั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต คนที่ขาดการกอด (หรือการสัมผัส) จะมีความเสี่ยงต่อความปวดร้าวรุนแรงในจิตใจ เมื่อเกิดความผิดหวังบางอย่างในชีวิต
“การกอดด้วยความรัก ความรู้สึกที่เป็นบวก จะได้ผลในเชิงการบำบัดเยียวยา”
ข้อมูลจาก Health Plus Magazine - http://health.kapook.com/view10814.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น