วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ใช้งานแป้นพิมพ์มนูญชัยบน Ubuntu

ช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ หลายคนคงได้เห็นข่าวแป้นพิมพ์ไทยทางเลือกใหม่ “มนูญชัย” ที่ออกแบบและพัฒนาโดยคุณมนัสศานติ์ มนูญชัย (@narze) ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์กันทั้งในทางดีและไม่ดีกันพอสมควร ไปหาอ่านกันเองตามสะดวก ฮ่า 😛 ส่วนใน blog นี้ ไม่ได้จะมาแนะนำแป้นพิมพ์หรอก เพราะไป search หาอ่านกันเองได้อยู่แล้ว 😆

และสามารถเข้าไปอ่านที่มาที่ไป แนวคิด วิธีการออกแบบ และดาวน์โหลด ที่ได้เว็บของผู้พัฒนา manoonchai.com




สมัยก่อน (นานมาก) ผมเคยสนใจอยากฝึกพิมพ์สัมผัสด้วยแป้นปัตตะโชติ เพราะจากข้อมูลที่รู้มาก็คือทำให้พิมพ์ได้เร็วกว่าแป้นพิมพ์แบบเกษมณี ที่คนไทยคุ้นเคยกัน ก็เลยฝึกอยู่พักหนึ่ง แต่สุดท้ายก็เลิกล้มความคิดไป เพราะว่าเวลาที่ไปใช้งานคอมพิวเตอร์ของคนอื่น จะเกิดปัญหาทันที 😓

แต่ในปัจจุบันนี้ การเปลี่ยน layout ของแป้นพิมพ์ทำได้สะดวกมากขึ้น ถ้าใช้ Windows ก็น่าจะสามารถหาโปรแกรมจำพวก Key mapping แบบ portable เวลาไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์คนอื่นได้ง่ายๆ

และจากที่ตัวเองพิมพ์งานแล้วรู้สึกขัดใจกับบางปุ่มบนแป้น (เกษมณี) ที่ต้องทนๆ ใช้ไป พอได้มาเห็นแนวคิดของการออกแบบแป้นพิมพ์มนูญชัย ก็ทำให้สนใจอยากใช้ขึ้นมาทันที

แต่ปัญหาสำคัญของการมาฝึกพิมพ์สัมผัสแป้นพิมพ์ใหม่ก็คือ สมอง+จิตใต้สำนึก+ความทรงจำของกล้ามเนื้อ มันฝังไปกับแป้นแบบเกษมณีไปแล้ว ซึ่งผมพิมพ์สัมผัสแบบจับความเร็วได้ที่ 55-60 คำ แต่ในการพิมพ์จริงนั้นไม่ได้เร็วขนาดนั้นเพราะต้องคิดประมวลผลคำที่จะพิมพ์ไปด้วย ทำให้ผม (และคนส่วนใหญ่) จะใช้เวลาฝึกพิมพ์นานกว่าคนที่ไม่เคยหัดพิมพ์มาก่อน (ทั้งแบบจิ้ม ปาด สัมผัส)

ดังนั้นการจะฝึกได้ ก็จะต้อง “ลืม” วิทยายุทธเดิมให้ได้ซะก่อน ฮ่า 😆 เคยดูหนังจีนที่ตัวเอกจะฝึกสุดยอดวิทยายุทธ แต่จะต้องลืมวิชาเดิมไปให้ได้เสียก่อน ถึงจะฝึกวิชานี้ได้ นี่ก็อารมณ์นั้นเลย ฮ่า



แป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ มีชื่อว่า QWERTY เพราะตำแหน่งแป้นพิมพ์ที่เรียงกัน เลยทำให้ผมเรียกแป้นมนูญชัยด้วยชื่อเล่นว่า นมไทย 😝 เพราะเรียกง่าย+พิมพ์สั้น



จากรูปแบบของแป้นพิมพ์ พอลองใช้ดูแล้ว ผมเจอปัญหาว่าตำแหน่งของตัว ฯ มันค่อนข้างไกล อยู่สุดเอื้อมของนิ้วก้อยมือขวา ดูไปดูมาแล้วเห็นว่า ฒ อยู่ซ้ายบน ซึ่งแทบไม่ได้ใช้ และอยู่ในตำแหน่งที่จิ้มได้ง่ายกว่า ถึงแม้ว่าจะต้องกด shift แต่ก็สะดวกกว่า ก็เลยจับสลับกันซะเลย เพราะเราสามารถเปลี่ยนตำแหน่งตัวอักษรได้เองตามใจอยู่แล้ว

ทีนี้แป้นพิมพ์มันมีตัวอักษรอีกชุดหนึ่ง นอกเหนือไปจากการกด shift ซึ่งเรียกว่าเป็น layer 3 (เป็นเรื่องที่ผมเพิ่งจะรู้หลังจากที่ได้อ่านแนวคิดการออกแบบแป้นมนูญชัย) โดยการกดปุ่ม Alt ขวามือ ซึ่งเรียกว่า AltGr (ย่อมาจาก Alt Graph) และในบางระบบสามารถกด Ctrl + Alt ด้านซ้ายมือแทนได้ด้วย ซึ่ง layer 3 นี้จะเอาไว้ใส่ตัวอักษรที่เราใช้ไม่บ่อย


แป้นมนูญไทยนั้นใช้ตัวเลขอารบิกคู่กับแป้นไทยเพื่อความสะดวกของคนส่วนใหญ่ (แถวตัวเลขของมนูญชัยทุกแป้น จะเหมือนแป้นอังกฤษเปี๊ยบ) จึงเอาเลขไทยไปใส่ไว้ใน layer 3 แทน เผื่อเอาไว้สำหรับคนที่ยังต้องใช้ตัวเลขไทย

และจากการที่เราสามารถเปลี่ยนตำแหน่งตัวอักษรได้เอง ผมเลยมีการเปลี่ยนตำแหน่งแป้นของเดิม 5 ตัว


ผมย้าย ฿ ไปไว้ที่ "บ (าท)" เพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็เอา ๚ (อังคั่น) เอามาต่อกับ ๏ (ฟองมัน) แล้วขยับ ๛ (โคมูตร) ออกไปแทนที่ ฿ ที่ย้ายไปก่อนหน้านี้

สาเหตุที่ผมเรียง ๏ ๚ ๛ ก็เพราะว่าอังคั่นเป็นเครื่องหมายวรรคตอน ที่จะใส่ในตำแหน่งจบย่อหน้า จบบท จบตอน ส่วนโคมูตรเป็นเครื่องหมายสำหรับจบเรื่อง ซึ่งจะอยู่ท้ายสุด ดังนั้นถ้าเรียงตามลำดับ จะทำให้จำง่ายหาง่ายขึ้น (ซึ่งคนปกติทั่วไป คงไม่มีใครใช้กันหรอก ฮ่าๆ)

แล้วก็เอา  ํ (นิคหิต) ย้ายมาอยู่ที่ตำแหน่ง สระอำ (ด้านบนของ ๅ) เพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าจะต้องกด shift เพิ่ม แต่เนื่องจากโดยปกติเราไม่ได้ใช้นิคหิตกันอยู่แล้ว

และตำแหน่งนิคหิตเดิม ก็ย้าย  ฺ (พินทุ) จากข้างบนลงมาใส่แทน (ไม่รู้ว่าทำไมมันไปอยู่ตรงนั้น) เพื่อจะได้ที่ว่างด้านบนเพิ่มขึ้นมาใช้งาน


คราวนี้ก็จะมีแถวว่างยาวๆ ที่จะเอามาใส่ตัวอักษรที่เราใช้อยู่ (แต่ใช้ไม่บ่อย) ในสมัยอดีตตอนที่ผมยังใช้ Windows อยู่ ก็สามารถกดปุ่ม Alt + รหัสตัวอักษร เพื่อพิมพ์พวกนี้ได้เลย แต่หลังจากที่ย้ายมาใช้งาน Linux ก็ไม่สามารถพิมพ์ได้ ต้องใช้การ copy + paste เอา ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่

ที่จริงแล้วสามตัวหลังของ ‘ ’ “ ” … « » ที่ใส่เข้ามาเนี่ย ตอนแรกผมเรียงเป็น ‘ ’ “ ” « » … เพื่อความเป็นระเบียบและสวยงาม แต่พอใช้งานจริงก็เจอปัญหาว่าปุ่ม AltGr มันต้องกดด้วยมือขวา ทำให้พิมพ์ … ได้ค่อนข้างลำบาก และผมใช้ … มากกว่า « » ก็เลยสลับที่ดีกว่า เท่านี้ก็ได้แป้นพิมพ์ตามใจเราล่ะ

การเปลี่ยน layout ของแป้นพิมพ์ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าต้องทำให้แป้นพิมพ์ของจริงมีตัวอักษรแปะอยู่ด้วย ถึงจะหัดพิมพ์ได้ แต่จากประสบการณ์ของตัวเองแล้ว ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น

ผมเองหัดพิมพ์สัมผัสไทย (เกษมณี) มาได้เนี่ย เป็นเพราะไม่สามารถฝึกพิมพ์จากแป้นพิมพ์ปกติได้ ฮ่าๆ

ก่อนหน้าจะพิมพ์เป็น ผมใช้ 4 นิ้วจิ้มได้ค่อนข้างเร็ว เลยไม่สามารถฝึกพิมพ์สัมผัสได้ซะที เพราะการฝึกพิมพ์เป็นเรื่องที่น่าเบื่อมาก สุดท้ายเลยฝึกไม่เคยสำเร็จซักที 😅

จนกระทั่งผมเปลี่ยนมาใช้แป้นพิมพ์แบบถนอมสุขภาพของ Microsoft (ergonomic) ที่แป้นพิมพ์มันจะเอียงๆ และแป้นไม่มีตัวหนังสือภาษาไทย ต้องตัดกระดาษมาแปะเอง 😂


เนื่องจากแป้นมันเอียง ทำให้เวลามองหาตัวหนังสือ ผมต้องเอียงหัวตามไปด้วย การจิ้มกดจึงเป็นเรื่องลำบากกับชีวิตสุดๆ ตอนนั้นรู้สึกว่าจะซื้อมาทำไมฟระ แถมราคาก็แพง น่าจะเกือบ 7 พันล่ะมั้ง

แต่ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้ว ก็ต้องใช้ ไม่งั้นเสียดายเงินแย่ เลยอาศัยที่ต้องทำงานจริงนี่แหละ ค่อยๆ พิมพ์สัมผัสงมๆ ไปเรื่อยๆ เพียงไม่นานก็จำได้หมด พิมพ์ได้คล่อง (ราวๆ สองสัปดาห์) ระหว่างที่หัดก็เอาแป้นพิมพ์อันอื่นมาวางข้างๆ ไว้ดูแบบ ว่าตัวอะไรอยู่นิ้วไหน 😁

ดังนั้นการฝึกพิมพ์แป้นมนูญชัย ก็เพียงแค่ไปดาวน์โหลดแบบแป้นพิมพ์เอามาวางไว้ข้างๆ ก็พอแล้ว และเป็นการฝึกไม่ให้เรามองแป้นด้วย ไปโหลดได้จากเว็บ manoonchai.com ได้เลย แต่ผมรู้สึกว่ามันดูยาก ไม่รู้ว่าต้องใช้นิ้วไหนจิ้ม ก็เลยทำเองโดยมีแถบสีช่วยให้เราดูง่ายขึ้นว่าต้องใช้นิ้วไหน ซึ่งแผนผังนี้จะเป็นแป้นพิมพ์มนูญชัยรุ่นดัดแปลงนะครับ

โหลดภาพแป้นพิมพ์มนูญชัยได้จากนี่เลย


แป้นหลัก


แป้นหลัก + แป้นระดับ 3 (AltGr)


แป้นระดับ 3 (AltGr)



ทุกแป้นรวมกัน




สำหรับการฝึกพิมพ์ เราใช้แบบที่มีเฉพาะตัวหนังสือไทยในแป้นหลัก จะทำให้ดูง่าย ไม่ตาลายเท่าไหร่ ปรินท์ลงกระดาษวางไว้ข้างๆ ก็ได้ หรือจะ save เก็บไว้ในโทรศัพท์ก็ไม่รุงรัง แต่จะเล็กซักหน่อย
การฝึกพิมพ์ เข้าไปในเว็บ https://manoontype.web.app/ ทางผู้พัฒนาเขาทำไว้ให้ฝึกพิมพ์แล้ว 

ทีนี้มาถึงวิธีการติดตั้ง ซึ่งถ้าเป็น Windows หรือ Mac ก็ไปดูที่เว็บมนูญชัยได้เลย แต่ผมใช้ Linux (Ubuntu) เลยต้องใช้วิทยายุทธมากหน่อย ทางคุณ @hiohlan ช่วยเขียน อธิบายวิธีมาให้

ไฟล์สำหรับติดตั้งของ Linux ในเว็บมนูญชัย มันมีรหัส BOM ส่วนเกินมา ต้องลบทิ้งก่อน (ให้เคอร์เซอร์อยู่ที่ซ้ายบนสุด พอกดเลื่อนขวา 1 ครั้ง จะเห็นว่าเคอร์เซอร์ไม่เลื่อน นั่นแหละ ต้องลบตัวนั้นทิ้ง)

ส่วนอันที่ผมแก้แล้ว ดาวน์โหลดจากตรงนี้


วิธีการติดตั้งสำหรับ Linux ก็คือ (ทั้งหมดนี้ ต้องใช้สิทธิของ root)

ดาวน์โหลดไฟล์วิธีการติดตั้ง ได้จากตรงนี้

1. เปิดไฟล์ /usr/share/X11/xkb/symbols/th
ไปบรรทัดสุดท้าย แล้ว copy ข้อความจากไฟล์ Manoonchai_MH1_xkb ที่โหลดมาไปแปะต่อไว้ท้ายสุด


2. เปิดไฟล์ /usr/share/X11/xkb/rules/evdev.xml

ค้นหา
        <variant>
          <configItem>
            <name>pat</name>
            <description>Thai (Pattachote)</description>
          </configItem>
        </variant>

แล้วเอาอันนี้ไปแปะต่อข้างล่าง
        <variant>
          <configItem>
            <name>ThaiMnc</name>
            <description>Thai (MH1)</description>
          </configItem>
        </variant>

ตรง <description>Thai (MH1)</description> ต้นฉบับเขาใช้เป็น

<description>Thai (Manoonchai v1.0)</description>

แต่ว่าผมเปลี่ยนข้อความเพื่อให้มันสั้นลงตอนแสดงผล
ใครอยากให้เป็นเหมือนเดิมก็ใช้แบบเดิมได้

** MH1 ย่อมาจาก Manoonchai HudchewMan edition 1 ฮ่า **

3. เปิดไฟล์ /usr/share/X11/xkb/rules/base.xml
แล้วแก้เหมือนข้อ 2

4. เปิดไฟล์ /usr/share/X11/xkb/rules/base.lst
ค้นหา
  tis             th: Thai (TIS-820.2538)
  pat             th: Thai (Pattachote)

แล้วเอาอันนี้ไปใส่ต่อท้าย
  ThaiMnc         th: Thai (MH1)

ซึ่งต้นฉบับเดิมใช้เป็น
  ThaiMnc         th: Thai (Manoonchai v1.0)

5. ล้างแคชแป้นพิมพ์
sudo dpkg-reconfigure xkb-data

6. ถ้าข้อ 5 ไม่เวิร์ค ก็ออกจากระบบ แล้วเข้ามาใหม่

7. ไปที่แป้นพิมพ์ กดเพิ่ม layout จะเห็นคำว่า
Thai (MH1)
นั่นแหละ เลือกเลย

จะให้ดี ไฟล์ในข้อ 1 2 3 4 ควรจะทำสำรองของเดิมเก็บไว้ด้วย
และถ้าเมื่อไหร่แป้นพิมพ์ที่ติดตั้งเกิดหายไปอันเนื่องมาจากการอัปเดตระบบ ก็เริ่มทำใหม่ตั้งแต่แรก

* * * * *

[Keywords]
แป้นพิมพ์, มนูญชัย, เกษมณี, ปัตตะโชติ, keyboard layout, Manoonchai

[Resorce]
เว็บมนูญชัย https://manoonchai.com/

เว็บฝึกพิมพ์แป้นมนูญชัย https://manoontype.web.app/

เว็บมนูญชัย Github https://github.com/Manoonchai

วิเคราะห์คะแนนแป้นพิมพ์แต่ละแบบ https://layout-analyzer.vercel.app/

วิเคราะห์ Heatmap https://manoonchai-heatmap.vercel.app/

Twitter https://twitter.com/hiohlan/status/1449676197051322371

เว็บวิธีติดตั้งแป้นพิมพ์มนูญชัยบน Linux Ubuntu https://me.na.in.th/install.htm

Discord Manoonchai https://discord.com/invite/aNbFWTmuHU

[เสริม] Youtube วันนั้นฉันทำ: วันนั้นฉันเปลี่ยนผังแป้นพิมพ์ไทย (อันนี้ไม่ใช่คลิปของผมนะ ของคนอื่น 😆️)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น