วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

[LibreOffice Writer] การใช้ formatting mark เพื่อจัดรูปแบบเอกสาร

ในการจัดหน้าเอกสาร แล้วเจอกรณีที่โปรแกรมตัดคำเพื่อขึ้นบรรทัดใหม่ไม่ตรงกับที่ควรจะเป็น เช่นแทนที่จะติดกันก็ไปจับแยก หรือคำที่ควรต้องแยก แต่ดันจับติดกัน วิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ก็อย่างเช่น ปรับเปลี่ยนเป็นคำใหม่ / เพิ่ม-ลดคำ / บังคับขึ้นบรรทัดใหม่ (manual line break) / บีบความกว้างของตัวอักษรหรือระยะห่างระหว่างตัวอักษร


ซึ่งวิธีการเหล่านี้มันสามารถใช้แก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าได้จริงนั่นแหละ เพียงแต่ถ้าเอาเอกสารนี้ไปใช้งานอื่นต่อ อย่างเช่นแก้ไขเนื้อหา ปรับเปลี่ยนขนาดตัวอักษร หรือปรับหน้ากระดาษใหม่ มันจะส่งผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่นถูกบังคับขึ้นบรรทัดใหม่ทั้งๆ ที่ยังมีที่ว่างเหลืออยู่


วิธีที่ควรใช้ในการแก้ปัญหานี้ ก็คือการแทรกรหัสอักขระสำหรับจัดรูปแบบ (formatting mark) ซึ่งจะอยู่ในเมนู Insert > Formatting Mark


รหัสการจัดรูปแบบที่มักใช้บ่อย คือ

  • ตัดคำ (No-width Optional Break) Ctrl /
  • เชื่อมคำ (Word Joiner) Ctrl =
  • ยัตติภังค์เผื่อเลือก (Soft Hyphen) Ctrl -
  • ช่องว่างที่ไม่ตัดคำ (Non-breaking Space) Shift Ctrl Space
  • ขีดเชื่อมคำที่ไม่ตัดคำ (Non-breaking Hyphen) Shift Ctrl -


ข้อดีของการแทรกรหัสการจัดรูปแบบเช่นนี้ก็คือ ถ้าหากการจัดหน้าเอกสารไม่ได้ส่งผลต่อการตัดบรรทัด ในตำแหน่งนั้นๆ มันก็จะไม่ส่งผลอะไร ทำให้เราไม่ต้องมาคอยแก้ไขในจุดนั้นๆ อีก


ตัวอย่างของเอกสารที่มีการตัดคำอย่างที่ไม่ควรจะเป็น (เน้นเป็นตัวสีแดงเพื่อให้เห็นชัดขึ้น)


คำไหนที่เราต้องการให้มันตัดแบ่งตรงตำแหน่งไหน ก็ให้แทรกรหัสตัดคำ No-width Optional Break (หรือกด Ctrl /)

คำไหนที่เราต้องการให้มันติดกัน ไม่แยกออก ให้แทรกรหัสเชื่อมคำ Word Joiner (หรือกด Ctrl =)

คำไหนที่เราอยากให้มียัติภังค์ในกรณีที่คำนั้นบังเอิญถูกตัด ให้แทรกรหัสยัตติภังค์เผื่อเลือก (Soft Hyphen)

เมื่อแทรกรหัสการจัดรูปแบบลงไป จะได้ผลลัพธ์ดังนี้



ถ้ามีจุดไหนที่ยังตัดคำไม่ตรงตามที่ควรจะเป็น ก็แทรกรหัสจัดรูปแบบไปเรื่อยๆ (ใช้การกด shortcut บนแป้นพิมพ์ จะทำได้เร็วและสะดวกมาก)

ซึ่งเมื่อมีการปรับหน้าเอกสารใหม่ ไม่ว่าจะพิมพ์คำเพิ่ม เพิ่ม-ลดการเยื้องบรรทัดแรกของย่อหน้า ปรับขนาดตัวอักษร เปลี่ยนขนาดกระดาษ ฯลฯ ถ้าคำที่เราแทรกรหัสตัดคำเอาไว้ ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการตกบรรทัด มันก็จะไม่ทำงาน


รหัสช่องว่างที่ไม่ตัดคำ (Non-breaking Space) ใช้ในกรณีอย่างเช่น การเขียนยศตามด้วยชื่อ จะต้องเว้นวรรคระหว่างยศกับชื่อด้วย เช่น พล.ร.อ. น้ำเชี่ยว ซึ่งถ้าใช้การเคาะวรรคธรรมดา มันจะตัดบรรทัดระหว่างยศกับชื่อ จึงควรใช้เป็น รหัสช่องว่างที่ไม่ตัดคำ (Non-breaking Space)

รหัสขีดเชื่อมคำที่ไม่ตัดคำ (Non-breaking Hyphen) ใช้ในกรณีอย่างเช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หรือ วันที่ 4-10 พฤศจิกายน หากใช้เครื่องหมาย - ธรรมดา มันจะตัดบรรทัดตรงนั้น ทำให้เนื้อหามันดูประหลาดและผิดความหมายได้ จึงควรใช้เป็น รหัสขีดเชื่อมคำที่ไม่ตัดคำ (Non-breaking Hyphen)

+ + + + +

[ Keyword ]

LibreOffice Writer การจัดหน้าเอกสารด้วยการแทรกรหัสจัดรูปแบบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น