ใช้เวลาร่วมหนึ่งเดือน อ่านชอลิ้วเฮียงจบ 8 เล่ม เลยมาเขียนบันทึกเก็บไว้
จอมโจรจอมใจ ชอลิ้วเฮียง หรือ ขุนโจรหอม ชอเฮียงส่วย เป็นงานเขียนของโก้วเล้ง เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปี 2526 ยาวนานมาก จนทำให้เล่มหลังๆ ลักษณะงานเขียนของเรื่องนี้แตกต่างไปจากตอนแรกๆ พอสมควร
ชอลิ้วเฮียง 8 เล่ม ฉบับของ สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย แปลโดย น.นพรัตน์ แบ่งเป็นตอนๆ คือ
1.กลิ่นหอมกลางธารเลือด
2.พายุทะเลทราย
3.ศึกวังน้ำทิพย์
4.ยืมศพคืนวิญญาณ
5.ศึกวังค้างคาว (2513)
6.ดวงชะตาดอกท้อ (2516)
7.ตำนานกระบี่หยก (2521)
8.กล้วยไม้เที่ยงคืน (2526)
ใน 5 เล่มแรก ลักษณะของชอลิ้วเฮียง จะเป็นผู้มีวิทยายุทธสูงล้ำ วิชาตัวเบาสูงเลิศ ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงอันดับหนึ่งของแผ่นดินแต่ก็แทบไม่มีใครเทียบ
เมื่อเจอกับคู่ต่อสู้ที่เก่งกว่า จะอาศัยความเยือกเย็นวิเคราะห์จุดอ่อนจุดได้เปรียบ แล้วพลิกเอาชนะได้ ถึงแม้ว่าอาจจะดูเป็นเล่ห์เหลี่ยม โกง น่าอับอาย แต่ชอลิ้วเฮียงก็ยินยอมกระทำ ฮ่า (ตอนสู้กับกวนอิมศิลา กับ เจ้าแม่วังน้ำทิพย์)
หลายครั้งโก้วเล้งจะบรรยายว่าด้วยความโชคดี จึงทำให้ชอลิ้วเฮียงพ้นจากอันตรายถึงแก่ชีวิตแม้จะเกิดเหตุการณ์คับขัน
ชอลิ้วเฮียงดื่มสุรา แต่ดื่มน้อยมาก ปล่อยให้สหายโอ๊วทิฮวยดื่มเสียมากกว่า
ชอลิ้วเฮียงดีต่อสตรี แม้ว่าสตรีผู้นั้นจะทำร้ายเขา แต่เขาก็ยังคงสุภาพอ่อนโยน (ลักษณะเดียวกับ ฮวยบ่อข่วย จากเรื่องลูกปลาน้อย เซียวฮื้อยี้) ยอมถูกสตรีหลอกลวง แต่ไม่ยินยอมทำร้ายสตรีผู้นั้นเด็ดขาด
ชอลิ้วเฮียง มีสตรีพึงใจทั่วแผ่นดิน ตัวเองดีต่อสตรี รักถนอมสตรี แต่ไม่มีนิสัยเจ้าชู้โปรยรักหว่านเสน่ห์ จึงแทบไม่มีความสัมพันธ์กับสตรีเท่าไหร่ ที่จำได้ ก็มีเล่ม 2 พายุกลางทะเลทราย ที่มีสัมพันธ์กับปี่แป๊กงจู้
แต่หลังจากเริ่มเล่ม 6 เป็นต้นมา บุคลิกของชอลิ้วเฮียงเปลี่ยนไปแทบจะเป็นคนละเรื่องเลย
เล่ม 6 ดวงชะตาดอกท้อ เนื้อเรื่องต้องการโฟกัสเรื่องความรักของชอลิ้วเฮียง แต่เขียนออกมาแล้วทำให้ชอลิ้วเฮียงเหมือนคนที่เพิ่งเจอความรัก คือรักแบบลุ่มหลงงงงายขาดสติ พฤติกรรมและความคิดนี่เปลี่ยนเป็นคนละคน จากสุขุมเยือกเย็น กลายเป็นคนที่ทำอะไรไม่คิด เพื่อสาวคนรักแล้วไม่สนอย่างอื่น
บุคลิกนี้ทำให้นึกถึงอาฮุย (อาเฟย) จากเรื่องฤทธิ์มีดสั้น ลี้คิมฮวง (ลี้ชิ้มฮัว) ที่หลงงมงายในรักจนไม่สนอะไรอื่น ก็คนเขียนคนเดียวกัน
จุดที่ขัดใจอีกเรื่องคือ พอชอลิ้วเฮียงไปอยู่กับคนรักในหมู่บ้านลึกลับ ซึ่งมีกฎเหล็กมาแต่โบราณว่าห้ามสมาชิกหมู่บ้านออกจากหมู่บ้านเด็ดขาด เอ่อ... แล้วที่ออกมาเพ่นพ่านกันทั้งเรื่องนี่คือห้ามออกมาแล้ว? แล้วเรื่องตัดข้อมือมันเกี่ยวอะไรด้วย
เล่ม 7 ตำนานกระบี่หยก เรื่องนี้เขียนเพราะเสียงเรียกร้องจากนักอ่าน ทำให้โก้วเล้งกลับมาเขียนหลังจากเล่มก่อน 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โก้วเล้งกำลังประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดของงานเขียนแล้ว
ก่อนหน้านี้ ศัตรูของชอลิ้วเฮียงค่อยๆ เก่งขึ้นเรื่อยๆ จากศึกวังค้างคาวนั่นเก่งเกินมนุษย์ไปเยอะแล้ว ตอนนี้ก็ยังต้องสร้างศัตรูให้เก่งกว่านั้นอีกจนชอลิ้วเฮียงไม่สามารถสู้ได้ เพราะเป็นศัตรูหลายคนที่เหมือนเป็นคนเดียว
เล่มก่อนหน้านี้ ชอลิ้วเฮียงถึงแม้จะดื่มสุรา แต่ก็ดื่มไม่มาก ไม่ใช่ปิศาจสุรา โอ๊วทิฮวยดื่มไปสิบกว่าถ้วย ชอลิ้วเฮียงยังดื่มไม่หมดถ้วยเลย
โอ๊วทิฮวยเคยบอกว่า ข้าพเจ้าดื่มไปสิบกว่าถ้วย ส่วนท่านทำท่ายกจะดื่ม แต่ก็เอาแต่พูด แล้วสุดท้ายถ้วยนั้นก็ไม่ได้ดื่ม
แต่พอมาเล่มนี้ ยกย่องว่าชอลิ้วเฮียงดื่มเหล้าเป็นอันดับหนึ่งของแผ่นดิน ดื่มไม่เมามาย มีฝีมือการดื่มสูงกว่าโอ๊วทิฮวยอีก
ก่อนหน้านี้ ชอลิ้วเฮียงไม่ใช่คนเจ้าชู้ แทบไม่มีสัมพันธ์กับสตรีคนไหน มาเล่มนี้ โอ้ ชอลิ้วเฮียงมีผู้หญิงคนรักเพียบ มีบ้านเล็กบ้านน้อยเต็มไปหมด
ก่อนนี้ชอลิ้วเฮียง ไม่ว่าจะอย่างไร จะไม่ทำร้ายสตรี จะไม่ทำให้สตรีเสียใจ แต่เล่มนี้กลายเป็นกระด้างเย็นชากับสตรีที่ตัวเองไม่สนใจ โยนนินจาสาวลงจากรถม้าก็ยังทำ
ก่อนนี้ชอลิ้วเฮียงยังดูเป็นปุถุชน มีอารมณ์บ้าง หวั่นไหวบ้าง เฮฮาบ้าง เล่มนี้เก๊กแอ๊คอาร์ต จะพูดแต่ละที เก๊กเหลือเกิน สะบัดสำนวน
นอกจากนี้ มีเล่าถึงตัวละคร สตรีสะบั้นชีวิต ที่มีความสามารถสังหารสูงมาก ไม่มีใครเคยพบเห็น เพราะผู้ที่เคยพบเห็นล้วนตายแล้ว เอ่อ... แล้วใครมาร่ำลือในยุทธจักร ฮ่า
ปูบทของสตรีสะบั้นชีวิตมา แล้วอยู่ๆ ก็หายไปดื้อๆ ซะงั้น อะไรเนี่ย!
เล่ม 8 กล้วยไม้เที่ยงคืน เล่มนี้เขียนหลังจากเล่มก่อนหน้า 5 ปี เข้าใจว่าช่วงที่ผ่านมานี้โก้วเล้งเจอมรสุมชีวิตหลายอย่าง และเริ่มตกต่ำหลังจากขึ้นจุดสูงสุด
โก้วเล้งเขียนให้ชอลิ้วเฮียงตาย เขาบอกว่าเพื่อชอลิ้วเฮียงจะพลิกฟื้นคืนมา เหมือนกับที่ตัวเขาจะพลิกฟื้น
เล่มนี้โก้วเล้งเปลี่ยนแนวเขียนอีกครั้ง เหมือนอยากจะเขียนให้ออกปรัชญา แต่อ่านแล้วเหนื่อย เนื้อเรื่องไม่ไปถึงไหน เล่าเรื่องสลับปัจจุบัน อนาคต ตัดสลับฉากนู้นฉากนี้
สร้างเหตุการณ์ที่สลับซับซ้อน เพื่อจะให้ชอลิ้วเฮียงปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อช่วยบุคคล 3 คนที่เป็นเหยื่อล่อ โดยมาเฉลยว่าที่จริงแล้วผู้วางแผนที่เป็นตัวร้ายสุดๆ คือคนที่ชอลิ้วเฮียงสนิทสุดๆ
เอ่อ... เอาเวลาที่ไหนไปวางแผนเนี่ย
และที่จริงแล้วชอลิ้วเฮียงไม่ว่ายังไงก็ต้องเห็นคนผู้นี้สำคัญกว่า 3 คนที่เป็นตัวล่ออยู่แล้ว
สำนวนเขียนต้องการให้ผู้อ่านคิดเอง คาดการณ์เนื้อเรื่องเอาเอง ไม่บอกอะไรชัดเจน
เรื่องชอลิ้วเฮียงจมูกไม่ดี เป็นไซนัสสูดกลิ่นไม่ได้ เล่มแรกๆ บอกไว้ว่าเป็นความลับไม่มีใครรู้ เลยทำให้ชอลิ้วเฮียงรอดพ้นอันตรายมาได้หลายครั้ง แต่เล่มสุดท้ายบอกว่ารู้กันทั่วแผ่นดิน - -'a
ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า เรื่องชอลิ้วเฮียง อ่านแค่ 5 เล่มแรกก็พอแล้วจริงๆ
จาก 5 เล่มแรก ธีมเรื่อง บุคลิก ของชอลิ้วเฮียง ออกเป็นโทนเดียวกัน ทำให้อ่านแล้วยังรู้สึกว่า นี่คือ ชอลิ้วเฮียง
ส่วน 3 เล่มหลัง เหมือนถูกเขียนขึ้นจากบุคคล 3 คนที่ต่างกัน และรู้สึกว่าต้องทนอ่านให้จบ ไม่ได้ชวนให้อยากติดตามเอาซะเลย
สาวๆ ทั้งสามคนของชอลิ้วเฮียง ทั้ง โซวย่งย้ง (ซูหยงหยง) ลี้อั๊งซิ่ว (หลี่หงซิ่ว) และ ซ่งเตี๊ยบยี้ (ซ่งเถียนเอ๋อร์) ที่เปิดตัวมาเหมือนจะเป็นตัวละครหลัก เพราะจำได้ว่าตอนที่เคยดูซีรีส์สมัยเด็กๆ ชอลิ้วเฮียงจะอยู่กับสามสาวตลอด
แต่ว่าพออ่านหนังสือ ถึงได้เห็นว่าสามสาวมีบทแค่เล่มแรก ส่วนเล่มสองแค่พูดถึงชื่อ แล้วก็โผล่มาอีกนิดหน่อยในเล่มสาม หลังจากนั้นก็มีอ้างชื่อประปรายนานๆ ที เป็นตัวประกอบแบบแค่พูดถึงชื่อแค่นั้น
หนึ่งหยดแดง ตงง้วนเจ็กเตี้ยมอั๊ง ก็เคยจำว่าเป็นสหายนักฆ่าผู้เก่งกาจของชอลิ้วเฮียง แต่อ่านแล้วมีแค่บทตัวประกอบไม่มากไม่มาย โผล่มาเล่ม 1-3 หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเลย ใช้ตัวละครเปลืองดี สร้างมาเหมือนจะเป็นตัวละครหลัก แล้วก็ทิ้งซะดื้อๆ
ชอลิ้วเฮียงในนิยาย ไม่พกพาอาวุธ สู้ด้วยมือเปล่า แต่ในหนังที่เราเคยดูๆ กัน บางเรื่องเฮียชอลิ้วเฮียงจะพกพาพัดจีบอันใหญ่ติดตัวตลอด เดินไปเดินมาก็สะพัดออกมาโบก ฮา แถมบางเรื่องยังให้ชอลิ้วเฮียงใช้กระบี่ในการต่อสู้อีก เอาเข้าไป
ศัตรูแต่ละเล่ม
เล่ม 1 หลวงจีนบ๊อฮวย
เล่ม 2 กวนอิมศิลา
เล่ม 3 เจ้าแม่วังน้ำทิพย์
เล่ม 4 บุรุษเสื้อโลหิต, มือผู้บงการ (บทน้อยทั้งคู่จนไม่น่าจะเป็นบอส)
เล่ม 5 คุณชายค้างคาว
เล่ม 6
เล่ม 7 สื่อทีอ๊วง
เล่ม 8 กล้วยไม้เที่ยงคืน
ชื่อตัวละครในเรื่อง
การตั้งชื่อตัวละครของโก้วเล้งนั้นแตกต่างไปจากกิมย้ง คนละสไตล์กันเลย รู้สึกว่าการตั้งชื่อของโก้วเล้งไม่ชวนให้จดจำเท่าไหร่ ความหมายทื่อๆ
ชอลิ้วเฮียง - ฉู่หลิวเซียง (楚留香; Chǔ Liú Xiāng)
โซวย่งย้ง - ซูหยงหยง (蘇蓉蓉; 苏蓉蓉; Sū Róngróng)
ลี้อั๊งซิ่ว - หลี่หงซิ่ว (李紅袖; 李红袖; Lǐ Hóngxìu)
ซ่งเตี๊ยบยี้ - ซ่งเถียนเอ๋อร์ (宋甜兒; 宋甜儿; Sòng Tián'ér)
โอ๊วทิฮวย - หูเถี่ยฮวา (胡鐵花; 胡铁花; Hú Tiěhuā)
หนึ่งหยดแดง เจ็กเตี้ยมอั๊ง - อี้เตี่ยนหง (一點紅; 一点紅; Yī Diǎn Hóng)
หลวงจีนบ๊อฮวย - อู๋ฮวาเหอซั่ง (無花和尚; 无花和尚; Wúhuā Héshàng)
กวนอิมศิลา - สือกวันอิน (石觀音; 石观音; Shí Guānyīn)
เจ้าแม่วังน้ำทิพย์ - สุ่ยหมู่อินจี (水母陰姬; 水母阴姬; Shuímǔ Yīnjī)
นกเขียนคิ้ว - ฮว่าเหมยเหนี่ยว (畫眉鳥; 画眉鸟; Huàméiniǎo)
บุรุษเสื้อโลหิต ซิอีนั๊ง - เซวียอีเหยิน (薛衣人; Xuē Yīrén)
สื่อทีอ๊วง - สื่อเทียนหวัง (史天王; Shǐ Tiānwáng)
คำที่ น.นพรัตน์ ใช้ผิด และคงไม่มีใครบอกเขา เลยใช้ผิดตลอด
- อนธกาล (ความมืดมน) ที่ถูกต้องเขียนว่า อนธการ
- รโหฐาน (ที่ลับ ที่ส่วนตัว) ที่ถูกต้องใช้คำว่า มโหฬาร (ใหญ่โต)
* * * * *
[Keywords]
ชอลิ้วเฮียง, จอมโจรจอมใจ, ขุนโจรหอม, Chu Liuxiang, โก้วเล้ง, กำลังภายใน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น