วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

เขียนบันทึกสั้นๆ เรื่อง บุญข้าวประดับดิน เอาไว้ดูล่ะ

หนึ่งในประเพณีไทยๆ ที่มีมาแต่สมัยโบราณ “บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน” เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสองของชาวไทยอีสาน นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า จะนำข้าว ขนมหวาน อาหารคาว ผลไม้ และหมากพลู บุหรี่ที่มวนด้วยใบตอง ไปแขวนห้อยไว้ตามกิ่งไม้ หรือวางไว้โคนต้น หรือพื้นดินรอบเจดีย์ โบสถ์ กำแพงวัด (ภาษาอีสานเรียก ต้ายวัด) อาหารเหล่านี้รวมๆ เรียกว่าเป็น “ข้าวห่อน้อย” เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่วิญญาณผี-เปรต หรือญาติมิตรผู้ที่ล่วงลับดับชีวิตไปแล้ว

ประเพณีนี้มีที่มาจากนิทานในพระธรรมบท ได้เล่าเอาไว้ว่า ครั้งสมัยพุทธกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้า เหล่าอดีตพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกของสงฆ์ไปเป็นของตนเอง เมื่อตายไปจึงต้องตกนรกไปเกิดเป็นเปรตตลอดพุทธันดร (ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดิมดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ก็ยังไม่อุบัติขึ้น)

มาในสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานแด่พระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเหล่าญาตินั้น เมื่อยามค่ำคืนเปรตญาติเหล่านั้นจึงได้มาปรากฏกายเป็นรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ส่งเสียงร้องโหยหวนให้พระเจ้าพิมพิสารได้ยินได้เห็นใกล้กับวังที่ประทับ

รุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารจึงได้เสด็จไปถามพระพุทธองค์ และเมื่อได้รับคำตอบมาแล้วจึงได้ทำบุญถวายทานใหม่อีกรอบ และได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเปรตญาติ ชาวไทยอีสานจึงถือเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดต่อกันมา

เหตุที่นิยมทำกันวันแรมสิบสี่ค่ำเดือนเก้า เนื่องจากเป็นวันที่ถือกันว่าเป็นวันที่ประตูนรกเปิดในรอบปี พระยายมราชจะอนุญาตให้วิญญาณผีในนรกออกมาเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องบนโลกมนุษย์ (เอ่อ... มีใครอยากให้มาเยี่ยมไหมเนี่ย ^^')

เขียนบันทึกสั้นๆ ไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในอากู๋ล่ะนะ “บุญข้าวประดับดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น